X
คำว่า “นาฬิกา” มาจากไหน? | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

คำว่า “นาฬิกา” มาจากไหน? | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

19 ต.ค. 2566
22370 views
ขนาดตัวอักษร

เมื่อคืนนี้หากใครมีโอกาสได้ดูละคร #พรหมลิขิต ตอนที่ 1 ก็คงจะได้เห็นฉากที่แม่การะเกดออกกำลังกายโดยใช้กะลามะพร้าวเจาะรูจมน้ำช่วยนับเวลา ทำให้น้องบัวบานเกิดนึกขึ้นได้ว่าคำว่า “นาฬิกา” ก็มีที่มาจากเจ้ามะพร้าว สงสัยกันใช่ไหมคะว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร? ไปอ่านต่อกันเลย


คำว่า “นาฬิกา” มาจากคำภาษาบาลีว่า นาฬิเกร (อ่านว่า นา-ลิ-เก-ระ) แปลว่า มะพร้าว สาเหตุที่ใช้คำนี้เพราะเครื่องบอกเวลาเนื่องจากแต่เริ่มแรกนั้นใช้กะลามะพร้าวเจาะรูลอยน้ำนั่นเอง โดยเมื่อกะลานั้นจมครั้งหนึ่ง ก็เรียกว่า นาฬิกาหนึ่ง จึงนำคำว่า “นาฬิกา” มาใช้เป็นเครื่องบอกเวลาและช่วงระยะเวลาหนึ่งนั่นเองค่ะ


ในปัจจุบันนอกจากคำว่า “นาฬิกา” จะเป็นคำนามที่หมายถึงเครื่องบอกเวลาแล้ว เรายังใช้คำว่านาฬิกามาเป็นคำลักษณนามบอกลำดับเวลาตามชั่วโมงด้วยค่ะ โดยให้เริ่มนับ 1 นาฬิกา เมื่อเวลาผ่านเที่ยงคืนไป 1 ชั่วโมง และนับเรื่อยไปจนถึงเที่ยงคืนอีกครั้งเป็นเวลา 24 นาฬิกา ใช้ตัวย่อว่า น. (อ่านว่า นอ) เขียน น หนู มีจุด


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ในอดีตนั้นใช้ “บาท” ในการบอกเวลา กล่าวคือ 1 บาท จะเป็นช่วงเวลาเท่ากับ 6 นาที ดังนั้น 1 ชั่วโมง จะเท่ากับ 10 บาท นั่นเองค่ะ 


ใครมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่าสนใจ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับน้องบัวบานได้นะคะ สำหรับความรู้ดี ๆ ในวันนี้ ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550. (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://legacy.orst.go.th/

- อิสริยา เลาหตีรานนท์. (2553). บาตร บาท บาด. (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://legacy.orst.go.th/


ป.ล. ก่อนจากกัน น้องบัวบานมีเว็บไซต์ดี ๆ มาฝากพี่ ๆ ทุกคนด้วยนะคะ

❤️คำทับศัพท์ใช้แบบไหน? เช็กได้ที่ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://transliteration.orst.go.th/search  

❤️คำนี้เขียนถูกไหม? เช็กได้ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) https://dictionary.orst.go.th/

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล