ประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของอุบลราชธานีมาอย่างยาวนาน จังหวัดอุบลราชธานีและหลายภาคส่วนได้ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำเทียนพรรษาตลอดทั้งเดือนก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา อาทิ การเยือนชุมชนทำเทียนพรรษา การแสดงและการแห่เทียนพรรษา โดยมีพัฒนาและสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ย้อยกลับไปก่อนพุทธศตวรรษที่24
ในช่วงบุญเดือนแปด หรือบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านชาวคุ้มเมืองอุบลราชธานีแต่ละบ้านจะทำเทียนพรรษาไปถวายพระสงฆ์ โดยจะฝั้นขี้ผึ้งให้เป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ ขนาดความยาวเท่าคืบ เท่าศอก เท่ารอบศีรษะ หรือเทียนเวียนหัว (ภาษาอีสานเรียกว่า ค่าคืบ ค่าศอก ค่าคิง)
ต่อมาได้มีการจัดทำเทียนพรรษาแบบรวมกลุ่ม โดยแต่ละบ้านที่อยู่ในชุมชนหรือในคุ้มจะนำเทียนมารวมกันก่อน แล้วจึงนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัดร่วมกัน โดยเทียนเล่มสั้นก็จะทำเป็นเทียนพุ่ม หรือพุ่มเทียนตั้งวางบนพานหรือขันเพื่อให้เกิดความสวยงาม เทียนเล่มยาวหรือขนาดเท่าตัวก็จะนำมามัดรวมกันเข้าเป็นรูปทรงกลมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ผูกติดไว้กับโครงไม้เพื่อป้องกันเทียนหัก การรวมเทียนพรรษาเป็นกลุ่มนี้แสดงถึงความสามัคคีในหมู่คณะ
ช่วงพุทธศตวรรษที่24
ปี พ.ศ.2444 กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ผู้มาปกครองหัวเมืองมณฑลอีสานและประทับที่เมืองอุบลราชธานี ได้ดำริให้มีการแห่ขบวนเทียนพรรษารอบเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2444
ปี พ.ศ.2470 ได้มีการคิดริเริ่มหล่อเทียนพรรษาด้วยการทำเป็นรางไม้หรือโฮงไม้ขึ้นเป็นครั้งแรก
ปี พ.ศ.2480 มีการทำต้นเทียนพรรษาเพื่อการประกวดครั้งแรก ซึ่งมีเพียง 4 ต้น ซึ่งนายประดับ ก้อนแก้ว เคยเห็นว่า มีลักษณะเป็นต้นเทียนพรรษาที่ทำเป็นลายดอก ติดตามลำต้น เป็นลายขนาดโต และติดห่าง ๆ กัน
ปี พ.ศ.2494 นายชอบ ชัยประภา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สนับสนุนให้การแห่เทียนพรรษาเป็นงานประจำปีของจังหวัดอุบลราชธานี
ปี พ.ศ.2495 มีการนำรถยนต์มาใช้ในการตั้งต้นเทียนพรรษาแทนเกวียน และมีการรื้อฟืนการประกวดเทียนพรรษาแบบมัดรวม ติดพิมพ์
ปี พ.ศ.2498 นายประดับ ก้อนแก้ว ได้ริเริ่มการทำต้นเทียนพรรษาโดยจัดทำรูปสัตว์มาเป็นองค์ประกอบของต้นเทียนพรรษา ซึ่งเป็นรูปสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือ พญานาค โดยจัดวางพญานาค 4 ตัว ติดไว้ที่ฐานต้นเทียนทั้ง 4 ด้าน พร้อมนำลวดลายมาติดที่ตัวพญานาคให้เหมือนของจริง ถือว่าเป็นคนแรกที่ทำองค์ประกอบต้นเทียนพรรษาขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีเพียงต้นเทียนต้นเดียวเท่านั้น ทำให้ในปีนั้น นายประดับ ก้อนแก้ว ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดต้นเทียนพรรษา ได้รับรางวัลข้าวสาร 1 กระสอบ น้ำมันก๊าด 1 ปี๊บ เงิน 100 บาท
ล่าสุดปี 2565 ได้มีการจัดงานงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2565 ภายใต้ชื่องาน “121 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีของชาวอีสานตามฮีต 12 คอง 14 เป็นประเพณีบุญเดือน 8 หรือประเพณีวันเข้าพรรษาที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชาวอุบลราชธานีให้คงอยู่สืบไป และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
โดยนายธงชัย แสนทวีสุข ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2565 โดยในปีนี้ใช้ชื่องานว่า “121 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” กำหนดจัดระหว่างวันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2565 และมีไฮไลท์ที่พิธีปล่อยขบวนเทียนและแห่เทียนพรรษาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 นับเป็นปีที่ 121 ที่ชาวอุบลราชธานีได้ร่วมกันสืบสานงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่จัดมาช้านาน โดยในปีนี้ จังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานพันธมิตร ได้หลอมรวมใจกลับมาจัดงานประเพณีให้ยิ่งใหญ่สมกับเป็นต้นตำรับ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 ในปีนี้นอกจากขบวนแห่เทียนอันวิจิตรงดงาม ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม อาทิ พิธีรับเทียนพรรษาพระราชทาน, การประกวดต้นเทียนพรรษา, กิจกรรมเยือนชุมชน คนทำเทียน ,การแห่ขบวนเทียนพรรษาภาคกลางคืน, กิจกรรมเทียนอุบล ยลได้ตลอดเดือน, กิจกรรมเช็คอินถิ่นเทียน และการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน
นายธงชัย แสนทวีสุข กล่าวว่า ททท.อุบลฯ ได้ชูกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรมที่จะช่วยขยายวันเดินทางท่องเที่ยวและเพิ่มวันเข้าพักของนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนอุบลราชธานีช่วงดังกล่าว
คือ 1. กิจกรรมเยือนชุมชน คนทำเทียน ระหว่างวันที่ 1 – 12 กรกฎาคม 2565 ณ ชุมชนวัดที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 7 วัด ได้แก่ วัดมหาวนาราม วัดพระธาตุหนองบัว วัดแจ้ง วัดบูรพา วัดพลแพน วัดศรีประดู่ วัดเลียบ และวัดผาสุการาม ที่อำเภอวารินชำราบ นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมแกะสลักเทียนและเรียนรู้วิถีเทียนที่แต่ละคุ้มวัดและชุมชนได้ร่วมกันรังสรรค์ขึ้น เป็นการเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวให้หลงรักอุบลราชธานีและหลงรักแผ่นดินถิ่นอีสาน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ 2 เทียนอุบล ยลได้ตลอดเดือนซึ่งจัดใน 7 ชุมชนคุ้มวัดเดียวกันกับกิจกรรมเยือนชุมชน คนทำเทียน ระหว่างวันที่ 18 – 31 กรกฎาคม 2565 นักท่องเที่ยวจะได้ชมต้นเทียนของแต่ละคุ้มวัดที่จะนำมาจัดแสดงในห้วงหลังการแห่เทียนพรรษาและกิจกรรมร่วมแกะสลักเทียนในบางคุ้มวัด จะเห็นได้ว่าการเดินทางมาเที่ยวงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีกิจกรรมที่น่าสนใจและหลากหลายรอนักท่องเที่ยวทุกท่านเดินทางมาสัมผัส
#AmazingThailand #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี