X
บช.น. เผยแล้ว..ใคร ? จะโดนจับรายแรก สะสมใบสั่ง.. ไม่จ่าย

บช.น. เผยแล้ว..ใคร ? จะโดนจับรายแรก สะสมใบสั่ง.. ไม่จ่าย

23 มิ.ย. 2565
810 views
ขนาดตัวอักษร

บช.น. เผย เริ่มรื้อขั้วใบสั่ง ค้นหานักสะสมกันแล้ว !! ทำผิดกฎจราจรแล้ว ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่จ่ายค่าปรับ ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมาย เริ่มจากออกใบเตือน, หมายเรียก และออกหมายจับ ส่งรายชื่อเข้าสารบบ ตำรวจทั้งประเทศ สามารถจับกุมมารับโทษตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ในฐานะ โฆษก บช.น. ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ให้ประชาชนได้รับทราบกรณี กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีแนวทางในการบังคับใช้กฎหมาย กับผู้กระทำความผิด ตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับ ภายในระยะเวลาที่กำหนด



พล.ต.ต.จิระสันต์ฯ กล่าวว่า มีผู้ที่กระทำความผิด ตามกฎหมายจราจรแล้ว ไม่ไปชำระค่าปรับจำนวนมาก และยังคงมีพฤติการณ์ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำ ๆ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน และเกิดปัญหาการจราจร สร้างความสูญเสีย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงภาพลักษณ์ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง

กองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงได้กำหนดมาตรการ ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ มีวินัยจราจร ซึ่งจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุ และปัญหาจราจร ในกรุงเทพมหานครได้ ในระดับหนึ่ง

การบังคับใช้กฎหมาย ผู้ไม่ชำระค่าปรับจราจร มีขั้นตอนการปฏิบัติ และข้อควรทราบ ดังนี้

1. เจ้าพนักงานจราจร ออกใบสั่ง ให้กับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้า และความผิดที่ตรวจจับ ด้วยกล้องตรวจจับ การกระทำความผิด ระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

2. กรณีผู้กระทำความผิด ไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในใบสั่งแต่ละประเภท เจ้าพนักงานจราจร จะออกหนังสือ แจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง (ใบเตือน) โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนด ชำระค่าปรับในใบสั่ง โดยให้ถือว่า เจ้าของ / ผู้ครอบครอง ได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่ง และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ผู้กระทำความผิด สามารถเลือกชำระค่าปรับ ได้ที่



+ สถานีตำรวจทุกสถานีทั่วประเทศ

+ ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของธนาคารกรุงไทย

+ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่มีสัญลักษณ์ PTM

+ และทางไปรษณีย์


3. กรณีพ้นระยะเวลา ที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิด ยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูล ไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามมาตรการ งดออกเครื่องหมาย การเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวน จะออกหมายเรียกผู้ต้องหา เพื่อให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบ ตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวน จะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่ เพื่อออกหมายจับ

4. กรณีถูกออกหมายเรียก หรือ หมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหา ที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหา ตามมาตรา 155 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.141 (ชำระค่าปรับ ในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 1,000.-บาท ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบ พนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ณ สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางอื่นได้

5. ผลของการถูกออกหมายจับ ในคดีอาญา เมื่อถูกออกหมายจับแล้ว จะถูกบันทึก ในระบบฐานข้อมูลของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

- เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถจับกุมตัวบุคคล ที่มีหมายจับได้ทั่วราชอาณาจักร โดยใช้เทคโนโลยี ในการเชื่อมฐานข้อมูล

- หากบุคคลที่มีหมายจับ เดินทางออกนอกประเทศ จะถูกจับ และเกิดความยากลำบาก ในเรื่องการเดินทาง

- ถูกบันทึก ในทะเบียนประวัติ ซึ่งอาจส่งผลต่อ การประกอบอาชีพการทำงาน กรณีที่หน่วยงาน สอบถามประวัติคดีอาญาว่า เป็นบุคคลที่มีหมายจับ

- เกิดความยากลำบาก และความน่าเชื่อถือ ในการทำนิติกรรม

6. กรณีผู้ต้องหามาพบ พนักงานสอบสวนด้วยตนเอง หรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับ ให้คดีอาญาเลิกกัน หากประชาชนมีข้อสงสัยว่า มีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทาง ใบสั่งจราจรออนไลน์ สำหรับประชาชน https://ptm.police.go.th

จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และขอความร่วมมือทุกท่าน ในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เพื่อช่วยกันลดปัญหา การเกิดอุบัติเหตุ และปัญหาการจราจร ที่เกิดจากการไม่เคารพ กฎหมายจราจร และไม่มีวินัย เพื่อให้สังคมไทย เป็นสังคมที่ปลอดภัย และน่าอยู่ หากต้องการสอบถาม ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทาง Facebook และ Twitter 1197

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าว การบังคับใช้กฎหมาย กรณีประชาชน ไม่มาชำระค่าปรับ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก โดย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. และในฐานะ โฆษก บช.น. พร้อมด้วย รอง ผบก.จร และ รอง ผบก.น.1 - 9 ซึ่ง พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ได้เปิดเผยอีกว่า ความมุ่งหวังที่แท้จริง ก็คือ อยากให้ปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่เกิดความสูญเสีย ไม่เกิดการบาดเจ็บ กับพี่น้องประชาชน ผู้ใช้รถใช้ถนน หรือผู้เดินทาง

ไม่ได้มุ่งหวังไป อยากจะใช้กฎหมายบังคับ พี่น้องประชาชน แต่มีเป็นจำนวนมาก ที่ทำผิดกฎจราจรแล้ว ไม่เกรงกลัว กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ เลยทำความผิดซ้ำ จนกระทบต่อปัญหาจราจร และส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุจราจร อย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการ กับผู้ที่กระทำผิด ที่ทำผิดซ้ำ ๆ มากก่อน โดยจะเริ่มดำเนินการกับใบสั่งทั้งหมด ที่มีการย้อนหลังไม่เกินอายุความ 1 ปี หรือที่ยังไม่ขาดอายุความ และจะเริ่มภายในเขตกรุงเทพฯ สำหรับผู้ที่ถูกหมายจับ แล้วมาชำระค่าปรับครบถ้วน ทางเจ้าหน้าที่ฯ จะทำการยกเลิกรายชื่อ ที่บันทึกเป็นผู้กระทำผิด ออกจากสารบบของทางการ



สำหรับ ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร มีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

1. ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร สำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ

2. ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร สำหรับส่งทางไปรษณีย์

3. ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์


ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564
อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ >> (เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงาน)




อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
https://www.facebook.com/royalthaipolice



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล