วันที่ 11 เมษายน 2539 ข่าวสะเทือนวงการสื่อสารมวลชน เมื่อ นายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ถูกยิงเสียชีวิต ตำรวพบปมเหตุสังหารมาจาก ผู้มีอิทธิพลในธุรกิจวิทยุภูมิภาคเป็นคนบงการ
เวลาผ่านไป 27 ปี ธุรกิจวิทยุที่เป็นต้นเหตุของการสังหารเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากธุรกิจในระบบสัมปทานรัฐเปลี่ยนไปสู่ระบบใบอนุญาต ในเชิงเทคโนโลยีวิทยุอนาล็อกพัฒนาไปสู่วิทยุระบบดิจิทัล มีการประมูลคลื่นความถี่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 71 คลื่นความถี่ มูลค่าการประมูลรวมกว่า 700 ล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้น 77% (ราคาตั้งต้นรวมอยู่ที่ 398 ล้านบาท) อสมท. เปลี่ยนบทบาทจากเจ้าของสัมปทานวิทยุทั่วประเทศเป็นผู้เข้าประมูลเพื่อให้ได้คลื่นความถี่มาให้บริการ โดยบมจ.อสมท ได้ไปมากสุด 47 คลื่น จากที่ยื่น 55 คลื่น เป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของมูลค่ารวม
ระบบนิเวศและเทคโนโลยีของสื่อวิทยุมีความเปลี่ยนแปลง การมาของ Audio Bussiness Audio Platform และ Podcast ไม่ได้ลดความสำคัญของสื่อวิทยุลงเสียทีเดียว แบรนด์ยังมองสื่อวิทยุว่ายังคงมีประโยชน์ 2 ประการคือ การเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคท้องถิ่น(Local)ได้ดี และการเป็นสื่อที่ป่าวประกาศให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายรับรู้แคมเปญการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่คลื่นที่จะได้เงินโฆษณาไปครองก็ยังหนีไม่พ้นสถานีที่มีผู้ฟังสูงสุดท็อป 3-5 อันดับแรก โดยแบรนด์ที่ใช้งบประมาณในลำดับต้นๆ อยู่ในกลุ่มยานยนต์ ธนาคาร ค้าปลีก ฯ
การทำคอนเทนต์ในสื่อวิทยุวันนี้ต้องมีความหลากหลาย เชื่อมโยงกับสื่อโซเชียลมีเดีย สร้าง engatement ได้ดี กับผู้บริโภครองรับการทำการตลาดที่หลากหลายแพลตฟอร์ม การทำคอนเทนต์ข่าว ความบันเทิงหรือการเปิดเพลงอย่างเดียวไม่ทำให้สื่อวิทยุอยู่รอด แต่ต้องปรับตัวทำคอนเทนต์ที่หลายหลายทั้งเนื้อหาและแพลตฟอร์ม ปรับตัวให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ทำทุกอย่างในธุรกิจ Audio Bussiness จึงจะนำพาให้วิทยุเดินหน้าต่อไปได้