X
จุดเริ่มต้นของ “วันมาฆบูชา” ในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของ “วันมาฆบูชา” ในประเทศไทย

25 ก.พ. 2564
1500 views
ขนาดตัวอักษร


วันมาฆบูชา วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก และมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นถึง 4 ประการ นับได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งของไทย แต่รู้ไหมคะว่าการประกอบพิธีต่าง ๆ ในวันมาฆบูชาของไทยนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไร? วันนี้ Backbone MCOT รวบรวมข้อมูลมาให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ


วันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส (มีเดือน 8 สองครั้ง) วันมาฆบูชา ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และในปีนี้วันมาฆบูชา ก็ตรงกับวันที่ 26 มีนาคม 2564 เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังตรัสรู้มาแล้ว 9 เดือน หลักคำสอนนี้มีใจความเรื่อง “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”


วันมาฆบูชา มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นถึง 4 ประการ คือ

1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (ดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญเต็มดวง โคจรผ่านกลุ่มดาวมาฆะในเดือน 3)

2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6*

4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า เรียกว่าเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”


เหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกได้อีกชื่อว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หมายถึง การประชุมด้วยองค์ 4 
จาตุร แปลว่า 4
องค์ แปลว่า ส่วน
สันนิบาต แปลว่า ประชุม

ความเป็นมาของวันมาฆบูชาในประเทศไทย

การทำบุญในวันมาฆบูชา ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน แต่ในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีเรื่องราวการประกอบราชกุศลมาฆบูชาเอาไว้ กล่าวคือ

ไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน มีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จำนวน 30 รูป มาฉันภัตตาหารในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เวลาค่ำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลีและภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วย จีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการยกเว้นเป็นบางครั้งเพราะฃตรงกับช่วงเสด็จประพาส ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง รัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดราชการเพื่อให้ประชาชนได้ไปวัด ทำบุญและประกอบกิจกรรมทางศาสนา

วันมาฆบูชา ถือว่าเป็นวันพระธรรม (วันวิสาขบูชา เป็นวันพระพุทธ และวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์)

*อภิญญา 6 ประกอบด้วย

1. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ เช่น นิรมิตกายคนเดียวให้เป็นหลายคนได้ 

2. ทิพพโสต คือ หูทิพย์ 

3. เจโตปริยญาณ คือ ญาณที่สามารถรู้ใจคนอื่นได้ 

4. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้

5. ทิพพจักขุ คือ ตาทิพย์ หรือจุตูปปาตญาณ 

6. อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำอาสวกิเลสให้สิ้น

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล