X
สคทช. ตั้งโต๊ะแจงข้อเท็จจริง ตรวจสอบนายทุนรุกที่ดิน คทช.

สคทช. ตั้งโต๊ะแจงข้อเท็จจริง ตรวจสอบนายทุนรุกที่ดิน คทช.

12 มี.ค. 2568
210 views
ขนาดตัวอักษร

12 มี.ค.68 - สคทช. จับมือ CIB. กรมป่าไม้ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ชี้แจง แก้ปัญหาที่ดินทำกิน คทช. ถูกเปลี่ยนมือ จริงหรือเท็จ! เดินหน้าแจ้งความดำเนินคดี กับผู้บุกรุกและนายทุน


สำนักงานนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กองตำรวจป่าไม้) กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงการตรวจสอบการบุกรุกผืนป่าตะวันออก รวม 3 แปลง ได้แก่

1) ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่าสียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา

2) ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี

3) ป่าสงวนแห่งชาติป่าตกพรม อ.ขลุง จ.จันทบุรี 


ที่ พบว่ามีบางพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บางพื้นที่เป็นพื้นที่กันคืนป่าสงวนแห่งชาติออกจากเขตปฏิรูปที่ดิน (แปลง RF) และมีบางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นำไปจัดที่ดินทำกินให้ราษฎร ตามแนวทางของ คทช. แต่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์


ทั้งนี้ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) กลุ่มที่ 1 เป็นการอนุญาตให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินของรัฐ ในลักษณะแปลงรวม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เมื่อจัดราษฎรเข้าทำประโยชน์แล้ว จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และการจัดหาตลาด คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด และคณะอนุกรรมการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด จะติดตามและดูแลราษฎรอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าราษฎรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินที่รัฐจัดให้ได้อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี


นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กล่าวว่า คทช. มีข้อมูลรูปพื้นที่รายแปลงและรายชื่อผู้ครอบครอง ที่สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ 1 เนื้อที่ 4.1 ล้านไร่ ที่อนุญาตโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถตรวจสอบว่าเป็นไปตามระเบียบของ คทช.ได้หรือไม่ ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 เป็นกลุ่มที่กรมป่าไม้อนุญาต ซึ่งพื้นที่บุกรุกใน จ.ฉะเชิงเทรา จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งหลักการของ คทช. อนุญาตเป็นแปลงรวม โดยให้สิทธิในการทำกิน อยู่อาศัย ตามกติกาที่กำหนดเท่านั้น โดยสิทธิสามารถตกทอดถึงลูกหลานได้ แต่ไม่ได้ให้สิทธิซื้อขาย แลกเปลี่ยน เปลี่ยนมือเป็นบุคคลอื่นเด็ดขาด


อย่างไรก็ตาม สวนทุเรียน 1,400 ไร่ ตรวจสอบแล้วผู้ว่าราชการจังหวัด ได้อนุญาตจริงเมื่อปี 2562 จัดให้ราษฎรที่มีบัญชีรายชื่อตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 แต่ละครอบครัวให้ครอบครองได้ไม่เกิน 20 ไร่ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดสรรที่ดินให้ผู้ครอบครองรายเดียวเดินกว่า 20 ไร่ เพราะเกินจากที่กำหนดเงื่อนไขไว้ ซึ่งจากรายงานยังไม่มีบุคคลใดเข้ามาแสดงตัว


ที่ผ่านมา สคทช. ร่วมกับ GISTDA มีการกำกับติดตามการใช้ประโยชน์ในแปลงจัดที่ดิน คทช. กลุ่มที่ 1 ซึ่ง สคทช. มีขอบเขตรูปแปลงที่ดิน โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ผ่านระบบติดตามการใช้ประโยชน์พื้นที่จัดที่ดิน คทช. (SPHERE) เพื่อยืนยันในการตรวจสอบย้อนหลัง (traceability) ว่าผลิตภัณฑ์จากแปลง คทช. ไม่ได้ทำลายป่า

หรือทำให้ป่าไม้เสื่อมโทรม ภายหลัง พ.ศ. 2563 ตามที่กำหนดในกฎระเบียบของสหภาพยุโรปว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU regulation on deforestation-free products: EUDR)


ทั้งนี้วันนี้ (12 มีนาคม 2568) สคทช. ยังได้หารือกับกรมป่าไม้ เพื่อกำหนดมาตรการร่วมกันในการกำกับติดตามและเฝ้าระวังการบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) นอกจากจะมีพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) กลุ่มที่ 1 แล้ว ยังประกอบไปด้วย พื้นที่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มที่ 2 และ 3 ป่าสงวนแห่งชาติ ดำเนินการอนุญาตและจัดราษฎรเข้าทำประโยชน์โดยกรมป่าไม้ กลุ่มที่ 4 ป่าอนุรักษ์ ดำเนินการโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และกลุ่มที่ 5 ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


โดยผลการหารือ สคทช. จะร่วมกับ กรมป่าไม้ และ GISTDA ยกระดับการกำกับติดตามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้และการบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นที่ คทช. ทั่วประเทศ โดยจะบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อนำเข้าข้อมูลรูปแปลงที่ดินที่ได้รับอนุญาตแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 กลุ่มที่ 1 – 3 รวมเนื้อที่กว่า 7.32 ล้านไร่ ในระบบติดตามการใช้ประโยชน์พื้นที่จัดที่ดิน คทช. (SPHERE) เพื่อให้การกำกับติดตามการใช้ประโยชน์พื้นที่มีความครอบคลุมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด


ด้านนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ มีหนังสือด่วนที่สุดแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้ดำเนินการ 3 แนวทาง คือ 

1.เร่งรัดดำเนินการในขั้นตอนการจัดที่ดินให้เสร็จสิ้น เพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ ตรวจสอบคัดกรองผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดินตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

2.กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินของผู้ได้รับการจัดที่ดินอย่างสม่ำเสมอ 

3.สุดท้าย แจ้งผู้ปกครองท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้มีการซื้อขายโอนสิทธิ์เปลี่ยนมือ หากตรวจพบกระทำผิดเงื่อนไขข้อกำหนดการใช้ที่ดินให้แจ้ง คทช.จังหวัด พิจารณายกเลิกเพิกถอนการจัดที่ดินของราษฎรรายนั้นๆ ก่อนดำเนินการตามกฎหมาย


ด้าน พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) กล่าวว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมกับ กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด เข้าดำเนินการตามข้อร้องเรียนและที่ บก.ปทส.ตรวจพบเอง ซึ่งจะดำเนินการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ คทช.หรือไม่ หากไม่มีเอกสารสิทธิ์รองรับจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย โดย บก.ปทส. จะขยายผลให้ถึงกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)