X
นายกฯ กำชับ

นายกฯ กำชับ "สวมแมสก์" สธ.เตรียมชงถอดหน้ากากฯ พื้นที่นำร่อง

26 พ.ค. 2565
1980 views
ขนาดตัวอักษร

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ย้ำทุกคน "สวมแมสก์" สม่ำเสมอ แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการ ในขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมปรับมาตรการ ถอดหน้ากากอนามัย (เฉพาะพื้นที่นำร่อง) คงให้ใส่ไว้ 3 กลุ่ม เตรียมพร้อมเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจังหวัดนำร่อง จะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ ได้แก่ พื้นที่สีเขียว และสีฟ้าที่มีความพร้อม

วันนี้ (26 พฤษภาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งอยู่ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ระหว่างวันที่ 25 - 27 พฤษภาคม 2565  ยังคงติดตามการรายงาน สถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ

แม้ ศบค. จะผ่อนคลายมาตรการ ทุกคนยังต้อง สวมหน้ากากผ้า / หน้ากากอนามัย อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการทำกิจกรรม ในพื้นที่สาธารณะ การรวมกลุ่มคนหมู่มาก นายกรัฐมนตรี ยังกำชับสถานศึกษา ดูแลนักเรียนใกล้ชิด หลังการเปิดเรียนมาแล้ว 1 สัปดาห์ พบตัวเลขผู้ติดเชื้อ เริ่มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย และการระบาด เป็นกลุ่มก้อนภายในโรงเรียน แต่ยังไม่มาก มีเพียงบางโรงเรียน ที่เป็นโรงเรียนประจำ ซึ่งได้ดำเนินการจัดแยกโซน แยกกลุ่ม ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีการสั่งปิดสถานศึกษา



เน้นย้ำ ขอให้ทุกคนปฏิบัติตน ตามมาตรการป้องกันโรค อย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการให้ความรู้เด็ก ๆ มีวินัยในการปฏิบัติตน เพื่อร่วมป้องกันการแพร่ระบาด ของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และสามารถใช้ชีวิตในโรงเรียน ได้อย่างปลอดโรค และปลอดภัย
 
สำหรับ รายงานสถานการณ์ตัวเลข ผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ (26 พฤษภาคม 2565) พบยอดผู้ติดเชื้อรวม 4,924 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 4,924 ราย ไม่มีผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 2,206,239 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 5,560 ราย หายป่วยสะสมรวม 2,184,704 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 46,595 ราย และเสียชีวิต 37 ราย โดยมีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 995 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 13 ราย และอัตราครองเตียงอยู่ที่ ร้อยละ 13.8




ซึ่งจากเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้โพสต์ ระบุว่า สธ. เตรียมปรับมาตรการ ถอดหน้ากากอนามัย (เฉพาะพื้นที่นำร่อง) คงให้ใส่ไว้ 3 กลุ่ม เตรียมพร้อมเป็นโรคประจำถิ่น

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประเด็นเตรียมปรับมาตรการ เรื่อง การสวมหน้ากากอนามัย ว่า ยังไม่ได้มีข้อเสนอ ให้ถอดหน้ากากอนามัยทั้งหมด แต่จะดำเนินการในพื้นที่นำร่อง ที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ คือ

+ มีสถานการณ์ระบาดในระดับต่ำ

+ มีการฉีดวัคซีน ให้กับประชาชนได้ตามเกณฑ์

+ ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย ของสถานพยาบาลในพื้นที่ มีความพร้อม



โดยจะออกคำแนะนำให้มี การสวมหน้ากากอนามัย ใน 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง 608

2. ผู้ที่อยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

3. ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก

เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตอยู่กับ โควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ในการเข้าสู่โรคประจำถิ่น


นอกจากนี้ จากเว็บไซต์สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า สธ. รายงานจากที่สถานการณ์ โควิด-19 ลดต่ำกว่าคาดการณ์ ผู้ป่วยปอดอักเสบ เริ่มทรงตัว พบการติดเชื้อในโรงเรียนประจำบางแห่ง ใช้การแยกโซนได้ ไม่ต้องปิดเรียน ย้ำหากต้องการเปิดประเทศปลอดภัย ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน ร้อยละ 60 ช่วยป้องกันป่วยรุนแรงได้ถึง ร้อยละ 93 - 99

ส่วนการปรับลดมาตรการ สวมหน้ากากอนามัย พิจารณาเป็นรายพื้นที่ และสถานที่ เน้นพื้นที่ระบาดน้อย ฉีดวัคซีนเข็มสามได้สูง เริ่มพื้นที่โล่งแจ้งก่อน แต่กลุ่มเสี่ยง 608 หรืออยู่ในสถานที่คนแออัด ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย

โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ โควิด-19 และประสิทธิผลวัคซีน โควิด-19 จากการใช้จริง ในช่วงการระบาดของ สายพันธุ์โอมิครอน



นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโควิด19 รายใหม่ของประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 4 - 5 พันคนต่อวัน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจ อยู่ในเกณฑ์คงตัว ส่วนผู้เสียชีวิตรายวัน อยู่ในกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรัง โดยครึ่งหนึ่ง มีอายุเกิน 70 ปี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ครบตามเกณฑ์ คือ 3 เข็มขึ้นไป จึงต้องรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง 608 มารับวัคซีน ทั้งเข็มปกติ และเข็มกระตุ้น เพื่อลดการเสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วย ที่เข้ารับการรักษา อยู่ในระบบลดลง จากเดิมเกือบ 2 แสนราย เหลือไม่ถึง 5 หมื่นราย

สอดคล้องกับ มาตรการที่ผ่อนคลายลง โดยขณะนี้ ยังคงการเตือนภัยโควิดระดับ 3 แต่หากการติดเชื้อ การป่วยหนัก และเสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง อาจปรับลดการเตือนภัย เป็นระดับ 2 ซึ่งจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น ใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ หลังเปิดเทอม ขณะนี้ เริ่มพบการระบาด เป็นกลุ่มก้อนในบางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำ ซึ่งสามารถแยกโซนเรียนได้ โดยไม่ต้องปิดโรงเรียน จึงขอให้เน้น เรื่องการสวมหน้ากาก และเว้นระยะห่าง และขอให้กลุ่มเด็กเล็ก อายุ 5 - 11 ปี ไปรับวัคซีนตามกำหนด เพราะอาจมีการแพร่เชื้อ และรับเชื้อระหว่างกันได้



ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า คณะทำงานศูนย์ประเมินผล ประสิทธิผลและประสิทธิภาพวัคซีน กรมควบคุมโรค ได้ศึกษาข้อมูลการใช้จริง วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นการระบาดของ สายพันธุ์โอมิครอน จากผู้ฉีดวัคซีนกว่า 5 แสนรายทั่วประเทศ เพื่อดูประสิทธิผล ในการป้องกันการติดเชื้อ การป่วยหนัก และการเสียชีวิต เปรียบเทียบกับ ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน พบว่า

+ การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อโอมิครอน ได้น้อยมาก แต่ยังป้องกันการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตได้ 75%

+ หากฉีด 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อประมาณ 15% ป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้ 93%

+ ส่วนการฉีด 4 เข็ม ป้องกันติดเชื้อโอมิครอน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 76% ซึ่งเป็นเหตุผลว่า บางคนฉีด 4 เข็มแล้ว ยังมีการติดเชื้อ ส่วนการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต พบสูงถึง 99% และที่น่าสนใจ คือ ไม่พบการเสียชีวิตในผู้ที่ฉีดวัคซีน 4 เข็ม

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อช่วยป้องกันการป่วยรุนแรง และเสียชีวิต และหากต้องการให้ เปิดประเทศได้อย่างปลอดภัย กลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ให้ได้มากกว่า 60% ขึ้นไป ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีวัคซีนเพียงพอ สำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีน ทั้งเข็มที่ 3 และ เข็มที่ 4

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนหนึ่ง คิดว่า ฉีด 2 เข็มเพียงพอแล้ว อีกส่วนกังวลผลข้างเคียง ซึ่งผลการศึกษา พบว่า วัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอ ส่วนเรื่องผลข้างเคียง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง เช่น ไข้ ปวดเมื่อย เป็นต้น ยืนยันว่า วัคซีนทุกสูตร ที่ประเทศไทยใช้มีความปลอดภัย และมีประสิทธิผล ป้องกันการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตได้

ส่วนเรื่องการเตรียมปรับคำแนะนำ การสวมหน้ากากอนามัยนั้น เนื่องจากเรามีทิศทาง ที่จะผ่อนคลาย เพื่อเข้าสู่การใช้ชีวิต ใกล้เคียงปกติมากขึ้น จึงจะเริ่มมีการปรับลดมาตรการ โดยเฉพาะมาตรการส่วนบุคคล เช่น การสวมหน้ากากอนามัย อาจจะเริ่มปรับในพื้นที่ ที่มีความพร้อมก่อน โดยต้องพิจารณาจากสถานการณ์ การระบาดที่ลดลง ประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เกิน 60 - 70% และพิจารณาเป็นบางสถานที่ก่อน เช่น สถานที่เปิดโล่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังคงเน้นการป้องกัน ในกลุ่มเสี่ยง 608 และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่

ทั้งนี้ จากการแถลงข่าวของ ศบค. ได้ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ ทั่วราชอาณาจักร ของโรคติดเชื้อโควิด-19 และมาตรการป้องกันควบคุมโรค
โดยมีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 มีดังนี้


+ พื้นที่เฝ้าระวัง 14 จังหวัด (พื้นที่สีเขียว)
ชัยนาท ตราด นครพนม น่าน บุรีรัมย์ พิจิตร อ่างทอง มหาสารคาม ยโสธร ลำปาง สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ


+ พื้นที่เฝ้าระวังสูง 46 จังหวัด (พื้นที่สีเหลือง)
กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บึงกาฬ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ราชบุรี ลพบุรี เลย ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุบลราชธานี


+ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า)
กระบี่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา นนทบุรี  นราธิวาส ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง สงขลา (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่ 12 จังหวัด)




นอกจากนี้ ศบค. เตรียมผ่อนปรนพื้นที่ 2 โซนสี ให้สามารถเปิด สถานบันเทิง, ผับ, บาร์, คาราโอเกะ ฯลฯ ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ซึ่งได้แก่

1. พื้นที่สีฟ้า (นำร่องท่องเที่ยว) 17 จังหวัด

2. พื้นที่สีเขียว (เฝ้าระวัง) 14 จังหวัด

โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

+ ให้เปิดบริการ จำหน่าย นั่งดื่ม ได้ไม่เกิน เวลา 24.00 น.
+ งดใช้แก้วร่วมกัน
+ งดกิจกรรม ส่งเสริมการขายแอลกอฮอล์
+ สวมหน้ากากอนามัย สำหรับบริการ ที่มีการคลุกคลีใกล้ชิด ระหว่างผู้ให้บริการ กับ ผู้ใช้บริการ

ผู้ให้บริการ
1. ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
2. คัดกรองพนักงาน Thai save Thai
3. ตรวจ ATK ทุก 7 วัน
4. เคร่งครัด Universal Prevention

ผู้รับบริการ
1. แสดงหลักฐาน การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
2. เคร่งครัด Universal Prevention
3. กลุ่ม 608 งดใช้บริการ




ที่มา : ศบค.


อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : รัฐบาลไทย
https://www.thaigov.go.th

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : ศูนย์ข้อมูล COVID-19
https://www.facebook.com/informationcovid19



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล