X
เด็กร้องเสียงดัง ไม่ใช่ปัญหาแก้ไม่ได้

เด็กร้องเสียงดัง ไม่ใช่ปัญหาแก้ไม่ได้

22 ก.ย. 2566
1780 views
ขนาดตัวอักษร

จากที่มีข่าวพ่อคนหนึ่งก่อเหตุน่าเศร้ากับลูก เพียงเพราะไม่ชอบเสียงเด็กร้อง ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วการร้องของเด็กถือเป็นพฤติกรรมปกติเป็นเหมือนกันทั่วทั้งโลก เนื่องจากเด็กวัยแรกเกิดถึง 3 ปี ยังไม่อาจควบคุมตัวเองได้ดีพอ ถ้าเขาเหนื่อย หิว หงุดหงิด หรือกลัวก็จะแสดงออกด้วยการร้องไห้เสียดัง แต่สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็สามารถช่วยเหลือแก้ปัญหานี้ได้


สาเหตุที่อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมร้องไห้เสียงดัง มาจากข้อจำกัดเรื่อง พัฒนาการทางภาษาที่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือถามได้ทั้งหมด ไม่รู้จะบอกความรู้สึกของตนเองอย่างไร (หลังอายุ 3 ปี เด็กส่วนใหญ่สามารถบอกความรู้สึกได้ การร้องอาละวาดจึงค่อย ๆ ลดลง) ไปจนถึงข้อจำกัดเรื่องพัฒนาการด้านอื่น ๆ คือ การเคลื่อนไหวร่างกาย พัฒนาการด้านสติปัญญา หรือข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น เด็กที่มีอาการเจ็บป่วยอยู่ หิว เหนื่อยหรือนอนไม่พอ กังวลหรือไม่สบายตัว


พ่อแม่อาจจะไม่สามารถป้องกันการร้องอาละวาดได้ทุกครั้ง แต่สามารถลดโอกาสที่จะเกิดได้ โดย

1. พยายามกระตุ้นให้เด็กพูด บอกความรู้สึก เช่น “หนูทนไม่ไหวแล้วนะ” 

2. ตั้งกฎที่เหมาะสมในบ้าน และ ให้เหตุผลง่าย ๆ ว่า ทำไมต้องมีกฎและพยายามอย่าไปเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ

3. พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เหมือนเดิมทุกวันเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เด็กคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

4. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจกระตุ้นให้เด็กเกิดร้องอาละวาด เช่น การเล่นของเล่นที่ยากกว่าวัย

5. เลี่ยงการไปนอกสถานที่ที่กินเวลานานๆ ถ้าต้องเดินทางไปไหนก็ให้พกหนังสือเล่มโปรด หรือของเล่นที่ชอบ

6. เตรียมของว่างที่มีประโยชน์เผื่อเวลาลูกหิวและแน่ใจว่าลูกได้พักผ่อนเต็มที่แล้ว ก่อนออกเดินทาง

7. เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กจากกิจกรรมที่อาจนำไปสู่การร้องอาละวาด 

8. พยายามเลือกใช้คำอื่นแทนคำว่า “ไม่, อย่า” เพราะถ้าใช้บ่อย ๆ เด็กก็จะหงุดหงิดได้ง่าย

9. เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเองบ้าง

10. เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการกับอารมณ์


แต่หากเด็กร้องอาละวาดไปแล้วสามารถแก้ปัญหาได้โดย

1. เบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก เช่น กิจกรรมใหม่ หนังสือ ของเล่น พยายามใช้คำพูดที่ละมุนละม่อม 

2. ใจเย็น ถ้าพ่อแม่ก็โมโห จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง 

3. การแสดงออกว่าโกรธที่ไม่รุนแรง เช่น ร้องไห้ กรีดร้อง เตะขา อาจเพิกเฉยได้ โดยยืนดูใกล้ ๆ หรือจับตัวเด็กไว้ โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรจนกว่าเด็กจะสงบ ถ้าคุณคิดว่าตัวเองไม่สามารถระงับอารมณ์ได้ให้เดินออกมาจากห้องนั้นก่อน ลองรอประมาณ 1 – 2 นาที ก่อนจะเดินกลับเข้าไปหรือจนกว่าลูกจะหยุดร้อง จากนั้นพยายามช่วยให้เขาไปสนใจสิ่งอื่นแทน ถ้าเด็กโตพอที่จะเข้าใจก็ลองพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ไขในครั้งต่อไป แต่การร้องอาละวาดที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้ ได้แก่ ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ทำร้ายข้าวของ กรีดร้อง หรือตะโกนเป็นเวลานานมาก ๆ

4. ไม่ควรทำโทษเด็กขณะร้องอาละวาดเพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กเก็บความคับข้องใจไว้และมีปัญหาทางอารมณ์ต่อไป 

5. พยายามอย่าใช้รางวัลเพื่อให้เด็กหยุดพฤติกรรม เพราะจะทำให้เด็กคิดว่าวิธีนี้ทำให้ตนเองได้ในสิ่งที่ต้องการ

6. เราควรมีความเสมอต้นเสมอปลาย อย่าไปแสดงท่าทางลังเลกับคำสั่งของเราเอง เพราะจะยิ่งทำให้เด็กสับสนว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้

7. ก่อนจะตั้งกฎอะไร พ่อแม่ต้องมั่นใจด้วยว่าตนเองมีเวลาในแต่ละวันที่ได้สนุกสนานกับลูก และไม่ควรตั้งกฎไว้มากจนเกินไป ทุกคนในบ้านก็ต้องหนักแน่นกับกฎนั้น ปฏิบัติต่อเด็กให้เหมือนกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเวชธานี


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)