X

รู้ทันโรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม

1 ม.ค. 2513
1010 views
ขนาดตัวอักษร

เนื่องจากช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจมีอาการเจ็บป่วยได้ง่ายควรดูแลตนเองเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งหากติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้


โรคปอดอักเสบ (pneumonitis) หรือที่เรียกกันว่า ปอดบวม เป็นการอักเสบของเนื้อปอดที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะปอดอักเสบจากการติดเชื้อในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งบางครั้งการติดเชื้ออาจรุนแรงและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน

อาการของโรคปอดอักเสบ

1. ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย เป็นสำคัญ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีไม่ครบทุกอย่างก็ได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยทุพพลภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองและสื่อสารได้จำกัด เช่น ในผู้สูงอายุอาจมีเพียงไข้หรือตัวอุ่น ๆ และซึมลงเท่านั้น อาจมีอาการไอเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการไอ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรงพอที่จะไอได้ ซึ่งแพทย์จะให้ความสนใจและสงสัยผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการอาจแสดงไม่ชัดเจน


อาการไข้ มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน อาจมีลักษณะไอเป็นพัก ๆ หรือมีไข้ตัวร้อนตลอดเวลา บางรายก่อนมีไข้ขึ้น (อาจมีอาการหนาวสั่นมาก ซึ่งมักจะเป็นเพียงครั้งเดียวในช่วงแรก ๆ)

อาการไอ ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ แล้วต่อมาจะมีเสมหะขาวหรือขุ่นข้นออกเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือบางรายอาจเป็นสีสนิมเหล็กหรือมีเลือดปน

อาการเจ็บหน้าอก บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก แบบเจ็บแปลบเวลาหายใจเข้าหรือเวลาที่ไอแรง ๆ ตรงบริเวณที่มีการอักเสบของปอด ซึ่งบางครั้งอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้อง แล้วต่อมาจะมีอาการหายใจหอบเร็ว

อาการหอบเหนื่อย ผู้ป่วยมักมีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ถ้าเป็นมากอาจมีอาการปากเขียว ตัวเขียว ส่วนในรายที่เป็นไม่มากอาจไม่มีอาการหอบเหนื่อยชัดเจน


2.  ส่วนใหญ่มักมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือโรคหวัดนำก่อน แล้วจึงมีอาการไอและหายใจหอบตามมา 


3.  ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเดิน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ร่วมด้วย


4. ในผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม สับสน และไม่มีไข้


5.  ในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ร้องกวน ไม่ดูดนม ร่วมด้วย และบางรายอาจมีอาการชักจากไข้


สาเหตุของโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบเกิดได้จาก 2 สาเหตุ ได้แก่

- ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ pneumonia เป็นชนิดของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ซึ่งเชื้อที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค เช่น ได้รับเชื้อจากที่ชุมชนทั่วไป หรือจากภายในโรงพยาบาล

- ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เกิดจากการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีที่ระเหยได้ นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด และยาสำหรับควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิดก็อาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ 


ปัจจัยเสี่ยงโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ในกรณีของปอดอักเสบจากการติดเชื้อ มักพบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ยังพบได้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง คือ


-  ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)  

-  ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ

-  ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV, ผู้ป่วยโรคเอดส์, ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยมะเร็งระหว่างการให้เคมีบำบัด หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน

-  ผู้ที่สูบบุหรี่ 


ที่มาของการรับเชื้อ

-  การไอ จาม หรือหายใจรดกัน ซึ่งเป็นการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอดโดยตรง

-  การสำลักเชื้อที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร กรณีนี้พบได้ในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

-  การแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิต โดยผู้ป่วยอาจติดเชื้อที่อวัยวะอื่นนำมาก่อน เช่น ผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ หรือใส่สายเข้าหลอดเลือดดำใหญ่เป็นเวลานานๆ 

-  การลุกลามจากการติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอด เช่น เป็นฝีในตับแตกเข้าสู่เนื้อปอด

-  การทำหัตถการบางอย่างในโรงพยาบาล เช่น การส่องกล้องหลอดลม (bronchoscopy) การดูดเสมหะที่ไม่ระวังการปนเปื้อน การใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือทดสอบสมรรถภาพปอด หรืออุปกรณ์ให้ความชื้นในรูปฝอยละออง (nebulizer) ที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือแม้แต่การได้รับเชื้อผ่านทางมือของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดก็ทำให้เกิดปอดอักเสบได้


การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ

แพทย์วินิจฉัยโรคปอดอักเสบได้โดยการซักประวัติ สอบถามอาการโดยเฉพาะอาการไอแบบมีเสมหะ มีไข้ และหายใจหอบในกรณีที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ ร่วมกับการตรวจร่างกาย เช่น ฟังเสียงปอด และเอกซเรย์ปอด 

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ ได้แก่

-  ตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ แต่ยังไม่สามารถแยกชนิดของเชื้อโรคได้อย่างชัดเจน

-  ตรวจวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดว่าลดลงหรือไม่

-  ตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะและเลือด เพื่อหาชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค


วิธีการรักษาโรคปอดอักเสบ

การรักษาโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นการรักษาการติดเชื้อร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยทางเลือกในการรักษาประกอบด้วย

-  การให้ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีของการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อที่คิดว่าเป็นสาเหตุของโรคจากข้อมูลทางคลินิกและทางระบาดวิทยา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายอาจทำให้เชื้อบางชนิด เช่น Streptococcus pneumoniae มีการดื้อยาเพิ่มมากขึ้น

-  การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ สำหรับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส และเชื้ออื่นๆ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจน และทำกายภาพบำบัดทรวงอก เป็นต้น

-  การรักษาภาวะแทรกซ้อน เป็นกรณีที่พบได้ในกลุ่มเสี่ยง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายจากปอดเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลให้อวัยวะอื่นๆ ติดเชื้อตามไปด้วย บางรายอาจพบฝีในปอด หรือเกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่จำเป็นต้องเจาะหรือดูดออก ในรายที่อาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตและจำเป็นต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมร่วมกับเครื่องช่วยหายใจ


การป้องกันโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบโดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้ออาจมีความรุนแรงมากจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ การป้องกันโรคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

ฉีดวัคซีนป้องกันโรค   แพทย์แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งหมายถึง เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง ฉีดวัคซีนที่ให้ผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อซึ่งได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) สำหรับป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่เรียกกันว่าเชื้อนิวโมคอคคัส โดย

วัคซีนนี้ มี 2 ชนิด คือ

1. วัคซีนแบบโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) สำหรับฉีดในผู้ใหญ่ที่มีปัจจัยเสี่ยงและผู้สูงอายุ โดยควรฉีดซ้ำหลังจากเข็มแรก 5 ปี

2.วัคซีนแบบคอนจูเกต (Conjugate) แบ่งออกเป็นชนิดป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 7 สายพันธุ์ (PCV7), 10 สายพันธุ์ (PCV10) และ 13 สายพันธุ์ (PCV13) ทั้งสามชนิดได้รับการรับรองให้ฉีดป้องกันเชื้อในเด็กตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ – 5 ปี ยกเว้นวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองให้ฉีดในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีอายุ 50 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบพร้อมกันในวันเดียวได้ โดยฉีดคนละแขนและเป็นการฉีดแบบผู้ป่วยนอก หลังฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดเล็กน้อยแต่จะหายเองได้ภายใน 2-3 วัน


ข้อปฏิบัติตัวง่ายๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคปอดอักเสบ

1. ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะไปทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตามธรรมชาติของปอด

2. ดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น หมั่นล้างมือเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น

3. หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น

เมื่อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรักษาให้หายขาดแต่เนิ่นๆ

4. สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

5. ไม่ดื่มสุรามากจนมึนเมาเพราะอาจสำลักเอาเชื้อโรคจากปากเข้าปอด

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล