9 เม.ย.68 - ซึม เศร้า เหงา หม่นหมอง หรือเผชิญเหตุสะเทือนใจ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจ ที่ใครที่กับเจอปัญหาเหล่านี้อาจต้องหาทางแก้ไขที่เหมาะสม และนี่อาจเป็นหนึ่งในการบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นกับจิตใจเหล่านั้นได้ กับ “Animal Therapy หรือ การบำบัดด้วยสัตว์”
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์วิชาการแฮปปี้โฮม บอกเล่าไว้ว่า “การบำบัดด้วยสัตว์ หรือ Animal Therapy” คือ การนำสัตว์มาร่วมในโปรแกรมการบำบัดรักษาผู้ป่วย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพิ่มความสามารถในการปรับตัว หรือช่วยเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น เป็นการบำบัดที่นำมาเสริมเข้ากับการรักษาวิธีการหลัก ซึ่งมีการนำมาใช้อยู่หลากหลายวัตถุประสงค์ และหลากหลายรูปแบบ
สัตว์ชนิดไหน นำมาช่วยบำบัดใจได้บ้าง?
สัตว์ที่นำมาใช้ในการบำบัดส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งมนุษย์คุ้นเคยเป็นมิตรกับมนุษย์ เช่น สุนัข แมว ม้า รวมทั้ง ช้าง และ โลมา เป็นต้น โดยต้องคัดเลือกและฝึกฝนสัตว์มาเป็นอย่างดี ส่วนสัตว์ที่ไม่แนะนำให้นำมาใช้ในการบำบัด เช่น กระต่าย หมู หนู เป็นต้น
เพราะสัตว์มีความสามารถพิเศษด้าน “การรับรู้สัมผัส เสริมสร้างสมาธิ เพิ่มความไว้วางใจผู้อื่น ให้สัมผัสที่อบอุ่น ปลอดภัย และเป็นมิตร” เพิ่มแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องสัมพันธภาพ และการตอบสนองทางอารมณ์ได้ดีขึ้นด้วย ดังนั้นจึงมีส่วนช่วยเยียวยาด้านจิตใจผู้สูงอายุได้ ช่วยเยียวยาจิตใจเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือทารุณกรรมได้ ให้ความรู้สึกที่ปลอดภัยขึ้น หรือการได้รับความรักโดยไม่มีเงื่อนไข
1) ผลทางด้านจิตวิทยา คือ ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย สร้างเสริมแรงจูงใจ
2) ผลทางด้านสังคม คือ กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล
3) ผลทางด้านชีววิทยา คือ การช่วยให้สัญญาณชีพดีขึ้น เช่น การเต้นของหัวใจ ชีพจร ความดันโลหิต
บำบัดด้วยสัตว์ ช่วยอาการป่วยแบบไหนได้บ้าง?
1. ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ การบำบัดด้วยสัตว์ช่วยนำกลับมาสู่ปัจจุบันขณะได้ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักหลงพะวงและระแวง ลูกสุนัขที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลุดออกมาจากภาวะเหล่านั้น ยังช่วยลดอาการกระสับกระส่าย และเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
2. ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร หรือผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มหัดพูดใหม่อีกครั้งหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง สัตว์เลี้ยงสามารถช่วยกระตุ้นการสื่อสารพูดคุยได้เป็นอย่างดี
3. ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ก็สามารถนำสัตว์เลี้ยงมาช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร และเสริมสร้างความผูกพันที่ดีได้ ช่วยให้ลดมุมมองในเชิงลบหรือเลวร้ายที่มีต่อโลกหรือคนรอบข้าง
4. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีอาการดีขึ้นได้ด้วยสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน เนื่องจากช่วยลดความซ้ำซากจำเจในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเพิ่มความสนใจ ใส่ใจ ในโลกนอกตัวที่กว้างขึ้น
5. สัตว์เลี้ยงเป็นจุดเริ่มต้นของความหวังอีกครั้ง จากการได้เรียกหาแล้วได้รับการสนองตอบ จากการรอคอยเวลาแล้วได้กลับมาพบกันอีกครั้ง เป็นการสร้างความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
6. สัตว์เลี้ยงสามารถให้สัมผัสที่อบอุ่นได้เป็นอย่างดี จากการลูบ กอด ซึ่งเป็นเสมือนสัมผัสแห่งรักมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป
7. สัตว์เลี้ยงช่วยเสริมสร้างปฎิสัมพันธ์ทางสังคมได้เป็นอย่างดี กระตุ้นให้ออกมาจากห้อง และมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคมกับสัตว์และผู้อื่นมากขึ้น
8. ในเด็กสมาธิสั้น พบว่า สามารถจดจ่ออยู่กับสัตว์เลี้ยงได้นานขึ้น ซึ่งช่วยให้เรียนรู้สภาวะที่มีสมาธิดี และในเด็กออทิสติก พบว่า ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพิ่มขึ้น จากการนำสุนัขมาช่วยในการบำบัด
9. การนำสัตว์มาใช้ร่วมในการบำบัดเด็กพิเศษ หรือเด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรัง อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ชีวิตดูง่ายขึ้น และมีสีสัน ความสนุกสนานมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดรักษาในแนวทางหลักได้ดียิ่งขึ้น
ข้อควรระวัง : ความกลัวและอาการภูมิแพ้จากขนสัตว์ ซึ่งต้องสอบถามประวัติเหล่านี้ก่อนว่ามีหรือไม่ รวมถึงค่าใช้จ่าย
Therapy Dog Thailand เป็นอีกองค์กรที่การันตีว่าสัตว์เลี้ยงช่วยบำบัดใจของผู้ป่วยได้ โดยนิยามว่า Therapy Dog หรือ สุนัขนักบำบัด คือการฝึกสุนัขโดยเฉพาะจากผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับเจ้าของสุนัข เพื่อเป็นผู้ช่วยส่งมอบความสุข ความผ่อนคลาย และรอยยิ้ม ช่วยเหลือผู้คนในสถานที่ที่ต้องการ เช่น บ้านพักผู้สูงวัย โรงพยาบาลเด็ก สถานพักฟื้นผู้ป่วย โรงเรียน หรือศูนย์พักฟื้นช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ โดยสุนัขที่จะฝึกเพื่อเป็นสุนัขนักบำบัดได้นั้น จะเป็นสายพันธุ์ไหนก็ได้ แต่จะต้องมีคุณสมบัติขั้นต้นที่เหมาะสมกับการฝึก เช่น อายุระหว่าง 1.5-7 ปี สามารถเข้าใจคำสั่งพื้นฐานได้ อยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าหรือสุนัขตัวอื่นได้
“ผู้สูงวัย กับ สุนัขนักบำบัด” : สามารถช่วยให้ผู้สูงวัยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น การเข้าสังคม การสื่อสารด้วยวาจา การตื่นตัว ลดความก้าวร้าว และการต่อต้าน ลดความรู้สึกอ้างว้าง อยู่อย่างมีความหมายและสื่อสารกับผู้ดูแลได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ผู้ดูแลผู้สูงวัยมีกำลังใจ มีความหวัง ที่จะช่วยผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น
“เด็กพิเศษ ออทิสติค สมาธิสั้น กับ สุนัขนักบำบัด” : สุนัขนักบำบัด ปลูกฝังความอ่อนโยนให้เด็ก กระตุ้นประสาทสัมผัสทุกส่วน เมื่อใกล้ชิดกัน เสริมพัฒนาการผ่านการเล่น
“ผู้มีภาวะซึมเศร้า กับ สุนัขนักบำบัด”: สุนัขนักบำบัด ช่วยเติมเต็มความมั่นใจ สร้างความรื่นรมย์ ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโดยไม่มีเงื่อนไข รับฟังทุกเรื่องโดยไม่ตัดสิน เป็นผู้ช่วยเปิดประตูทลายกำแพงหัวใจ ให้ผู้ป่วยได้วางใจ และเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้แพทย์ฟัง
“ผู้พิการ กับ สุนัขนักบำบัด” : ความอุบอุ่นใจ สร้างรอยยิ้ม เติมกำลังใจให้ทุกวันของพวกเขา มีความสุขใจยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยฝึกและพัฒนาการใช้ประสาทส่วนที่บกพร่องไป เป็นเพื่อนข้างกาย ของเด็กผู้พิการทางสมอง
ขอบคุณที่มา :