X
งานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล

งานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล

28 พ.ค. 2565
710 views
ขนาดตัวอักษร

(27 พ.ค. 65) เวลา 15:30 น. ณ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีสรงน้ำพระราชทานพระธาตุเจดีย์หลวง พระเจ้าฝนแสนห่า และเสาอินทขีล (เสาหลักเมือง) ในงานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล ประจำปี 2565 โดยมี พระธรรมเสนาบดี รองเจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ ราชวรวิหาร เป็นประธานสงฆ์โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวรญาณ บุณณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายสุนทร ยามศิริ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมในพิธี


     โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบพิธีบวงสรวงพระธาตุเจดีย์หลวง พระคงหลวง เพื่อทำการบูรณะลงรักปิดทองใหม่ และเป็นประธานในพิธีสรงน้ำพระราชทานพระธาตุเจดีย์หลวง พระเจ้าฝนแสนห่า และเสาอินทขีล (เสาหลักเมือง) โดยจุดธูป - เทียนบูชาพระรัตนตรัย พระธรรมเสนาบดี รองเจ้าคณะภาค 7 ให้ศีล รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ่านหมายรับสั่ง จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานในพิธี เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ หน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน สรงพระเจ้าฝนแสนห่า เสาอินทขีล (เสาหลักเมือง) และพระธาตุเจดีย์ พระสงฆ์ทั้งนั้นเจริญชัยมงคลคาถา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ ร่วมถวายไทยธรรมแด่พระสงฆ์ กรวดน้ำรับพร กราบลาพระรัตนตรัย และถวายความเคารพหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอันเสร็จพิธี


     นายสุนทร ยามศิริ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดงานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล เสาหลักเมืองเชียงใหม่ทุกปีเมื่อล่วงเข้าสู่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายน จังหวัดเชียงใหม่ จะมีการจัดงานประเพณีสำคัญที่เกี่ยวกับความเชื่อของคนโบราณนั้นก็คือ "ประเพณีบูชาเสาอินทขีล (ใส่ขันดอก)" หรือ"ประเพณีเดือนแปดเข้าเดือนเก้าออก" โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร ซึ่งเป็นวัดสำคัญเก่าแก่วัดหนึ่งและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต โดยวัดเจดีย์หลวงวริวหาร เป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังรายซึ่งครองราชอาณาจักรล้านนาไทย พระองค์ทรงสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1934 หรือเมื่อประมาณ 631 ปีมาแล้ว ซึ่งด้านหน้าของพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมือง ซึ่งแต่เดิมเสานี้อยู่ที่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขีล ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอประชุมติโลกราชข้างศาลากลางหลังเก่า ครั้นต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์โปรดให้ย้ายเสาอินทขีลมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร และได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่พร้อมทั้งสร้างวิหารครอบไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2343 ต่อมาวิหารอินทขีลได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2496 ครูบาขาวปี นักบุญแห่งล้านนาไทยอีกท่านหนึ่งจึงได้สร้างวิหารอินทขีลขึ้นใหม่ในปัจจุบัน และท่านยังนำเอาพระพุทธรูปปางขอฝนหรือพระคันธารราษฎร์ประดิษฐานไว้บนเสาอินทขีลอีกด้วย เพื่อให้ชาวเมืองได้กราบไหว้บูชา


     "เสาอินทขีลปัจจุบัน ตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจตุรมุขศิลปะแบบล้านนา เป็นเสาอิฐก่อปูน ติดกระจกสีรอบเสาวัดได้สูง 2.27.5 เมตร วัดรอบโคนเสาได้ 5.67 เมตร รอบปลายเสา 3.4 เมตร มีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวง เมื่อปี 2514 ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกเหนือเสาอินทขีลให้ได้สักการะบูชาคู่กับหลักเมือง"


     เสาอินทขีล เป็นเสาหลักเมืองที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่เคารพสักการะและนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ ในสมัยก่อนได้มีการทำพิธี สักการะบูชาเสาอินทขีลเป็นประจำทุกปี การทำพิธีดังกล่าวจะทำในปลายเดือนแปดเหนือข้างแรมแก่ ในวันเริ่มทำพิธีนั้น พวกชาวบ้านชาวเมืองทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวจะพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้น ส้มป่อยใส่พานหรือภาชนะไปทำการสระสรงสักการะ การทำพิธีดังกล่าวนี้ มักจะเริ่มในวันแรม 12 ค่ำเดือน 8 เหนือ ไปแล้วเสร็จเอาในวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 9 เหนือเป็นประจำทุกปี ทุก ๆ ปีจะมีงานประเพณีบูชาเสาอินทขีล เป็นเวลา 7 วัน สมัยก่อนการจัดงานประเพณีเข้าอินทขีล เป็นหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครและข้าราชบริพาร ซึ่งปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ร่วมกับวัดเจดีย์หลวง องค์กรเอกชน สถานศึกษา และประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกสาขาอาชีพร่วมกันจัดงาน ตลอด 7 วันของงานชาวเชียงใหม่ ทั้งในเมืองและต่างอำเภอทุกเพศ ทุกวัย นำข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม มาบูชาเสาอินทขีลและพระพุทธรูปฝนแสนห่ากันอย่างเนืองแน่น พระพุทธรูปฝนแสนห่า งานประเพณีบูชาเสาอินทขีลจะขาดพระพุทธรูปสำคัญนี้ไม่ได้ เป็นพระพุทธรูปทองสำริดปางมารวิชัย แบบสิงห์ 2 หน้าตักกว้าง 63 ซม.สูง 87 ซม. (ของวัดช่างแต้ม) เมื่ออัญเชิญประดิษฐานบนรถแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ แล้วก็อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในซุ้มบุษบกหน้า พระวิหารหลวง เพื่อให้ชาวเมืองบูชาคู่กับเสาอินทขีล และยามค่ำคืนจะมีการละเล่นพื้นเมืองศิลปะพื้นบ้านสมโภชบูชาตลอดงาน


     สำหรับซุ้มพระธาตุเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ด้านทิศตะวันออก ในอดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย เป็นเวลายาวนานถึง 80 กว่าปี และพระพุทธรูป "พระคงหลวง" ประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มด้านทิศเหนือคู่บารมีกับองค์พระธาตุเจดีย์หลวง ตั้งแต่เริ่มสร้างมาเป็นเวลา 600 กว่าปี สมกับพระนามว่า "พระคงหลวง" ประดิษฐานมั่นคงสถาพรมาจนถึงปัจจุบันนี้ และด้วยล่วงเลยผ่านมายาวนาน ปัจจุบัน พระคงหลวง บนซุ้มพระธาตุเจดีย์หลวง ด้านทิศเหนือถึงเวลาที่จะต้องได้ทำการบูรณะแล้ว เพราะทรุดโทรมตามกาลเวลาเตรียมลงรักปิดทองใหม่ให้มั่นคงสวยงามต่อไป

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)