บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นข่าว ศิลปินเจ้าของเพลง ไม่สามารถนำเพลงดังของตัวเองไปร้องได้เนื่องจากผิดลิขสิทธิ์ ดังเช่นกรณีล่าสุดของ “เวสป้า-อิทธิพล” ที่ได้นำเพลงที่ตัวเองแต่งไปร้อง แต่กลับถูกฟ้องสูงถึง 12 ล้านบาท เราเลยขอพาไปดูกฎหมายตัวนี้กันว่าเป็นอย่างไร เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้
สำหรับกฎหมายลิขสิทธิ์เพลงในไทย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยกฎหมายลิขสิทธิ์ ระบุในส่วนของลิขสิทธิ์เพลง ไม่ว่าจะค่ายเพลง หรือค่ายเพลงก็สามารถเป็นผู้ครอบครองได้ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ทำไว้ โดยเจ้าของสิทธิมีสิทธิที่จะกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวกับงานเพลงที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ดังนี้
-ทำเพลงซ้ำหรือดัดแปลง
-อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิเพลงได้
-ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ผู้อื่น
-นำมาสตรีมหรือเผยแพร่เพลงต่อสาธารณะ
-ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานเพลงให้บุคคลอื่น
เจ้าของสิทธิยังสามารถทำอะไรกับผลงานก็ได้ จะยกให้ใครก็ได้ แต่กรณีที่ค่ายเพลงเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ ศิลปินเจ้าของเพลงไม่มีสิทธิ์ที่จะนำเพลงที่ขับร้องไปใช้ถ้าไม่ได้รับอนุญาต เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวหากผู้ใดนำไปใช้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตนับว่ามีความผิด
สำหรับประเทศไทย โดยส่วนมากค่ายเพลงจะเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์เพลง ตามสัญญาที่ตกลงไว้กับตัวศิลปิน ส่งผลให้เมื่อศิลปินคนใดหรือวงใดสิ้นสุดสัญญากับค่ายเพลงเดิม หรือย้ายไปสังกัดค่ายอื่น จึงไม่มีสิทธิที่จะนำผลงานเพลงที่ค่ายเพลงเดิมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไปร้องโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ แม้ตัวเองเคยแต่งหรือเคยเป็นเพลงที่ไว้จนทำให้มีชื่อเสียงก็ตาม
ด้านความผิดของการนำเพลงไปร้องโดยไม่ได้ขออนุญาต หากร้องในสถานบันเทิง ร้านอาหาร หรือสถานที่ต่างๆ รวมถึงการร้องลงโซเชียลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท แต่หากกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 4 ปี หรือปรับเงินตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ