6 พ.ค.68 - ระดมกำลัง จนท. เร่งค้นหา และช่วยเหลือ “ฉลามวาฬ” หางติดเชือกอวนเก่า
ลุ้น เอาใจช่วย “ฉลามวาฬ” ให้เจ้าหน้าที่ค้นหาตัวให้เจอให้เร็วที่สุด เพื่อทำการช่วยเหลือนำอวนออกจากหางให้ได้ โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากนายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 เวลาประมาณ 11.00 น. ผู้ประกอบการเรือดำน้ำลึก (เรือ Liveaboard) ชื่อ "ดีพ อันดามัน ควีน" นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่บนเรือพบฉลามวาฬตัวเต็มวัย ความยาวประมาณ 6-7 เมตร มีเครื่องมือประมง ซึ่งคาดว่าเป็นเศษเชือกเก่าหรืออวนเก่า ติดพันอยู่บริเวณส่วนหางขณะดำน้ำชมทัศนียภาพใต้ท้องทะเลบริเวณกองหินริเชลิว
โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้สั่งการให้ หน่วยงานทางทะเลทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งประสานหน่วยงานและผู้ประดอยการเพื่อติดตามช่วยเหลือฉลามวาฬโดยเร็วที่สุด
ทีมเจ้าหน้าที่ เริ่มเดินหน้าค้นหาฉลามวาฬ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2568 โดยชุดปฏิบัติการดำน้ำ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณกองหินริเชลิวด้วยการดำน้ำลึก (Scuba Diving) สำรวจและติดตามหาฉลามวาฬ แต่เนื่องจากสภาพน้ำทะเลในวันนี้มีความขุ่น ทัศนวิสัยการมองเห็นใต้น้ำค่อนข้างต่ำ ประมาณ 5-10 เมตรเท่านั้น ทำให้ยังไม่พบฉลามวาฬตัวดังกล่าว
นอกจากนี้ อุทยานฯ ได้ประชาสัมพันธ์กับผู้ประกอบการเรือดำน้ำลึกทุกลำที่ลอยลำอยู่บริเวณกองหินริเชลิว หากพบเจอฉลามวาฬตัวดังกล่าวให้รีบประสานมายังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือต่อไป พร้อมขอความร่วมมือผู้ควบคุมนักดำน้ำลึกประจำเรือให้แจ้งกับนักดำน้ำทุกคนว่า หากพบฉลามวาฬให้เว้นระยะห่างและไม่เข้าใกล้จนเกินไป เพื่อความปลอดภัยของทั้งนักดำน้ำและตัวฉลามวาฬเอง รวมทั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้ติดต่อประสานงานกับทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ และศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 (ภูเก็ต) เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการช่วยเหลือฉลามวาฬ
โดยแผนการช่วยเหลือที่วางไว้คือ แบ่งทีมทำงานเป็น 3 ทีม ประกอบด้วย ทีมปลดเชือก ซึ่งจะใช้ความระมัดระวังในการตัดเศษเชือกเก่า/อวนและนำกลับขึ้นฝั่ง, ทีมควบคุมทิศทางสัตว์ และทีมเฝ้าระวังผู้ปฏิบัติงาน โดยเน้นย้ำถึงความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและสัตว์ที่ทำการช่วยเหลือเป็นสำคัญ
เจ้าหน้าที่จะยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีที่พบฉลามวาฬตัวดังกล่าว เนื่องจากเศษอวนหรือเชือกที่พันอยู่อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวและการดำรงชีวิตของฉลามวาฬได้ ทั้งนี้หากใครพบเห็นแจ้งสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมงหรือแจ้งได้ที่หน่วยงานกรมอุทยานฯใกล้เคียง
ขอบคุณภาพจาก : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์