สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU: The International Astronomical Union) รับรองชื่อภาษาไทยของดาวฤกษ์แม่ GJ3470 และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม” นับเป็นชื่อดาวเคราะห์นอกระบบ ระบบที่ 3 ที่มีชื่อเป็นภาษาไทย จากชื่อที่ถูกเสนอ 603 ชื่อจาก 91 ประเทศทั่วโลก
สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ จัดกิจกรรม NameExoWorlds 2022 เพื่อตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่จำนวน 20 ระบบ ที่เป็นเป้าหมายหลักของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ โดยเปิดโอกาสให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ โดยมีชื่อถูกเสนอ 603 ชื่อจาก 91 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั่วโลกประมาณ 12 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดกิจกรรม “เสนอชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ และเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี หอดูดาวแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปร่วมเสนอชื่อไทยให้กับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัย และสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อภาษาไทยของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ3470b ถูกเสนอมากกว่า 335 ชื่อ และถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปโหวตเลือกชื่อภาษาไทยในรอบตัดสิน
ชื่อ “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม” เป็นชื่อที่มีผลคะแนนโหวตสูงสุด เสนอโดย นายหัสดินทร์ พัฒนากร และนายเฉลิมวุธ สมณา มีแนวคิดการตั้งชื่อจาก ความเชื่อของคนไทยโบราณที่ว่า ดวงดาวที่ส่องแสงระยิบระยับบนท้องฟ้า คือแก้วรัตนชาติที่ประดับสรวงสวรรค์ บนสวรรค์มีพระอินทร์เป็นใหญ่ปกครองเหล่าเทวดา พร้อมด้วยแก้ววิเศษ ดาวแม่จึงมีชื่อว่า “แก้วโกสินทร์” อีกนัยยะ คือ รัตนโกสินทร์ คือยุคที่ค้นพบดาวดวงนี้ และมีดาวบริวารเป็นรัตนชาติสีฟ้า คือ “ไพลินสยาม” ที่มีชื่อคล้องจองกันเป็น “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม”
ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566 สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ก็ได้ประกาศการรับรองชื่อภาษาไทยของดาวเคราะห์นอกระบบ GJ3470b ว่า “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม” ร่วมกับชื่อเคราะห์นอกระบบสุริยะและดาวฤกษ์แม่อีก 19 ระบบ นับเป็นชื่อภาษาไทยของดาวเคราะห์นอกระบบ ระบบที่ 3 ที่มีชื่อเป็นภาษาไทย ถัดจากระบบดาวเคราะห์นอกระบบ 47 UMa “ชาละวัน-ตะเภาแก้ว-ตะเภาทอง” และ WASP-50 “เจ้าพระยา-แม่ปิง” ที่ได้รับการรับรองชื่อภาษาไทยมาก่อนหน้านี้
ขอบคุณข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ