X
“ไดฮัทสุ” หยุดการผลิต เซ่นโกงผลการทดสอบความปลอดภัยและมลภาวะ

“ไดฮัทสุ” หยุดการผลิต เซ่นโกงผลการทดสอบความปลอดภัยและมลภาวะ

28 ธ.ค. 2566
3660 views
ขนาดตัวอักษร

28 ธ.ค. 66 - ไดฮัทสุ (Daihutsu) บริษัทผลิตรถยนต์เก่าแก่ของญี่ปุ่น ต้องหยุดการผลิต หลังเกิดเรื่องอื้อฉาวจากการไม่ผ่านการทดสอบด้านการชน และการปกปิดข้อมูลด้านมลภาวะ




ไดฮัทสุ บริษัทผลิตรถยนต์ภายใต้บริษัทแม่คือโตโยต้า ต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษเป็นการด่วน หลังจากกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น ได้เดินทางไปตรวจสอบที่สำนักงานใหญ่ของไดฮัทสุในเมืองโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้บิดเบือนผลการทดสอบความปลอดภัยย้อนหลังไปถึงปี 2532 ผลการสอบสวนโดยบุคคลที่สามที่ร้องขอโดยไดฮัทสุในเดือนเมษายน เมื่อต้องสงสัยว่าเกิดการกระทำผิดขึ้นครั้งแรก พบว่าเกิดปัญหา 174 รายการ กับรถยนต์ 64 รุ่น รวมถึงบางรุ่นที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์โตโยต้า





เราทรยศความไว้วางใจจากลูกค้าของเรา” โซอิจิโร โอคุไดระ ( Soichiro Okudaira) ซีอีโอของไดฮัทสุ กล่าวในงานแถลงข่าวที่โตเกียวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “ความผิดทั้งหมดอยู่ที่พวกเราฝ่ายบริหาร”





โดยก่อนหน้านี้ไดฮัทสุถูกระบุว่าไม่ผ่านในการทดสอบความปลอดภัย โดยการสอบสวนมุ่งเน้นไปที่หน่วยควบคุมถุงลมนิรภัย หลังจากพบว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบการชนแตกต่างจากอุปกรณ์ที่ใช้ในรถยนต์ที่จำหน่ายต่อสาธารณะ  และผลการทดสอบการชนด้านข้างของรถยนต์ไดฮัทสุรุ่น "คาสต์" และรถยนต์โตโยต้า รุ่น “พิซิส” ล้วนแล้วแต่ไม่ผ่านการทดสอบ





เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม บริษัทได้ประกาศจะหยุดการจัดส่งทุกรุ่นในขณะที่ดำเนินการสอบสวนและตรวจสอบความปลอดภัยเพิ่มเติม การสอบสวนเบื้องต้นพบว่าการลดเวลาในการพัฒนายานพาหนะลงน่าจะเป็นสาเหตุหลักของการไม่ผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัย

แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่เกิดจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานจากไดฮัทสุ แต่อย่างใด โดยทางไดฮัทสุกล่าวว่า การที่ประตูเปิดไม่ได้หลังอุบัติเหตุเป็นการผิดพลาดจากการผลิต โดยมีรถยนต์ 64 รุ่นอยู่ในรถยนต์ที่ผลิตโดย ไดฮัทสุ ภายใต้สัญญาสำหรับ โตโยต้า, มาสด้า และ ซูบารุ สำหรับประเทศไทยมีรถ 3 รุ่นของโตโยต้า ที่ผลิตโดย ไดฮัทสุ นั่นคือ Yaris Ativ , Veloz , และ Avanza





โดยปกติแล้ว ไดฮัทสุสามารถผลิตรถยนต์ได้ 4,000 คันต่อวันในญี่ปุ่น โดยผู้ผลิตรถยนต์รายนี้มีพนักงานประมาณ 9,000 คน ในโรงงานในญี่ปุ่นจนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยผลิตได้ประมาณ 870,000 คัน ในปีงบประมาณที่แล้ว การระงับการผลิตจะคงอยู่ไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับซัพพลายเออร์มากกว่า 8,000 ราย รวมถึงบริษัทแม่อย่างโตโยต้า มอเตอร์ ไดฮัทสุกล่าวว่า โดยทาง ไดฮัทสุ ให้คำมั่นที่จะให้เงินชดเชยแก่บริษัทซัพพลายเออร์จัดหาสินค้าให้โดยตรงทั้งหมด 423 แห่ง





ก่อนหน้านี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ก็เคยสารภาพว่าได้ปกปิดข้อบกพร่องในรถยนต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ก่อนจะมายอมรับเมื่อปี 2547 ปัญหาที่คล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นที่บริษัทในเครือ Fuso ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเรื่องอื้อฉาวขององค์กรที่เลวร้ายที่สุดในญี่ปุ่นนิสสัน ซูซูกิ มาสด้า ซูบารุ และยามาฮ่ามอเตอร์ ต่างก็เคยพัวพันเกี่ยวกับการปลอมแปลงข้อมูลระหว่างปี 2560 ถึง 2561

เช่นเดียวกับรถยนต์ตะวันตกอย่าง โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ที่พบว่ารถยนต์ดีเซลปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่โฆษณาไว้ ในปี 2558 สหรัฐฯ ระบุว่า โฟล์คสวาเกนละเมิดกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จนถูกฟ้องคดีโกงผลการตรวจวัดระดับการปล่อยมลภาวะจากท่อไอเสียรถยนต์มานานนับทศวรรษ ที่ถูกฟ้องร้องในสหรัฐฯ และจะจ่ายเงินค่าปรับเป็นเงินทั้งหมด 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.52 แสนล้านบาท) เรื่องอื้อฉาวของโฟล์คสวาเกนแดงออกมาเมื่อปี 2558 หลังจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของทางการสหรัฐฯ (อีพีเอ) ออกมาแฉว่า ผู้ผลิตรถยนต์เจ้านี้กงการตรวจวัดมาตรฐานการควบคุมการปล่อยไอเสียรถยนต์ของสหรัฐฯ ด้วยการตั้งซอฟต์แวร์โปรแกรมในรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ให้ทำงานเมื่อใดก็ตามที่รถยนต์คันดังกล่าวกำลังถูกตรวจวัดการปล่อยไอเสีย และปิดระบบควบคุมไอเสียเมื่อผ่านจุดตรวจไปแล้ว

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)