X
สสส. เสริมพลังผู้ป่วยเปราะบางด้วยบริการ นวัตกรรม Social Telecare

สสส. เสริมพลังผู้ป่วยเปราะบางด้วยบริการ นวัตกรรม Social Telecare

24 ก.ค. 2568
340 views
ขนาดตัวอักษร

สสส.จับมือสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย จัดเวทีสื่อสารสาธารณะและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย "เสริมพลังผู้ป่วยเปราะบางด้วยบริการ นวัตกรรม Social Telecare ภายใต้โครงการการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลฯ หวังยกระดับการทำงาน บูรณาการช่วยเหลืออย่างไร้รอยต่อ หนุนเสริมนักสังคมสงเคราะห์ สร้างมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วย


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย เปิดเวทีสื่อสารสาธารณะและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย "เสริมพลังผู้ป่วยเปราะบางด้วยบริการ นวัตกรรม social Telecare ภายใต้โครงการการพัฒนา นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมระบบบริการสุขภาพและสังคมผ่าน Social Telecare Platform” จัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังความคิดเห็น จากผู้ทรงคุณวุฒิและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 


โดย ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม (สสส.) กล่าวถึงนวัตกรรมดังกล่าวว่าจะสามารถบูรณาการในการช่วยเหลืออย่างไร้รอยต่อ โดยจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ตรงจุดของกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะช่วยในการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ได้อย่างมาก ถือเป็นงานทางวิชาการและนวัตกรรมที่มีประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานบริการสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์  โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกการทำงาน ซึ่งทุกความคิดเห็นในเวทีดังกล่าวจะช่วยในการต่อยอดเพื่อพัฒนานวัตกรรม ดังกล่าวให้แม่นยำ  รวดเร็ว และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


นางเยาวเรศ คำมะนาด นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย ให้มุมมองว่า การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในประเด็นสำคัญทั้งเรื่องของการพัฒนาสมรรถนะของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ เริ่มตั้งแต่การคิดค้น ออกแบบร่วมกันและมีการทดลองใช้นวัตกรรมตัวนี้ขึ้นมา รวมทั้งสมรรถนะการใช้เทคโนโลยีพื้นฐานเพื่อที่จะออกแบบต่อ ในเรื่องของการพัฒนาต่อยอดที่2คือเรื่องระบบข้อมูล และต่อยอดที่ 3 คือเรื่องของการออกแบบการบริการ ทั้งนี้ มองว่าสิ่งที่นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ จะได้ประโยชน์คือความมั่นใจและมาตรฐานการทำงานในระดับของวิชาชีพ โดยการทำงานที่ใช้เครื่องมือเพราะว่าเครื่องมือที่เราออกแบบมาทั้งหมดของนักสังคมสงเคราะห์และสหวิชาชีพจะเป็นตัวบ่งบอกว่าถึงทักษะในการทำงานรวมทั้งการแปรผลที่มีความเที่ยงตรงเพื่อนำไปสู่กระบวนการการออกแบบบริการได้ พร้อมมั่นใจว่าจะนำไปสู่เรื่องของการสร้างมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วย


ด้านศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า ข้อดีของโครงการนี้เปรียบเสมือนไกด์ไลน์ให้กับนักสังคมสงเคราะห์ในการนำไปใช้งาน  โดยในแต่ละโรงพยาบาลก็จะเห็นข้อมูลผู้ป่วย ผ่านรายงาน Social telecare platform ช่วยทำให้เห็นบทบาทการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ในการให้บริการผ่านเครื่องมือดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่าน และยกระดับบทบาทงานสังคมสงเคราะห์ ผ่านเครื่องมือบริการสุขภาพ พร้อมย้ำว่าโครงการพัฒนา Social telecare platform มีประโยชน์ในการติดตามดูแลทางสังคมกับผู้ป่วยเปราะบางกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งส่งเสริมการใช้ข้อมูลสารสนเทศในการออกแบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยเปราะบาง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่พบปัญหาสังคมร่วมด้วย โดยเมื่อมีการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว ในระบบสุขภาพจากข้อมูลเมื่อวันที่( 22 ก.ค.68) จะชี้ให้เห็นผลลัพธ์สำคัญคือ จำนวนของผู้ป่วยเปราะบาง 8,859 ราย จำนวนนักสังคมสงเคราะห์ที่ใช้งาน 466 คน คิดเป็น 70.2% ของจำนวนนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโรงพยาบาลที่ใช้งานร่วมกันในระบบ Social Telecare Platform:PST ถึง 127 แห่งและสหวิชาชีพที่ใช้งานในระบบ PST จำนวน 26 คน


ศาสตราจารย์ระพีพรรณ ยังระบุว่า ผลการพัฒนา Social telecare platform ในการบริการดูแลทางสังคมยังสามารถจำแนกปัญหาทางสังคมที่แบ่งแยกย่อยเป็นปัญหาการเงิน ปัญหาภาระการดูแล รวมทั้งอุปสรรคการดูแล และการประกอบวิชาชีพ รวมทั้งระดับความรุนแรง เพื่อประกอบในการออกแบบบริการ และให้ความช่วยเหลือตรงตามกลุ่มเป้าหมายในด้านต่างๆและยังสามารถจำแนกเครื่องมือที่ใช้ประเมินวินิจฉัยทางสังคมในการประเมินตนเองของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทั้งทางสังคมทางสุขภาพจิต เป็นต้น


นอกจากนี้ ในเวทีดังกล่าวยังมีการนำเสนอผลการดำเนินโครงการการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างเสริมระบบบริการสุขภาพและสังคมผ่าน Social telecare platform ผลการออกแบบบริการและการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างเสริมระบบบริการสุขภาพและสังคม (ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) ผ่าน PST พร้อมกับมีการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายผลจากการใช้งาน Social telecare platform ,AMED  Home Ward  โดยเสนอให้มีการเชื่อมโยงกับระบบการแพทย์ทางไกลและเชื่อมโยงกับระบบ HIS โรงพยาบาลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ซึ่งจะทำงานร่วมกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มีอยู่ทุกโรงพยาบาล รวมไปถึงข้อเสนอในการพัฒนาPlatform ให้สามารถแสดงผลการทำงานกับครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วย  

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)