จากอุบัติเหตุสะเทือนใจกรณี นายสิบตำรวจตรี ขี่บิ๊กไบค์ ชนแพทย์หญิง
เสียชีวิต ซึ่งหลังเกิดเหตุไม่กี่วันนายสิบตำรวจตรี ได้ทำการบวช จึงเป็นที่ถกเถียงในสังคมว่า
ผู้ต้องหาขับรถชนคนเสียชีวิต ที่ถือเป็นคดีอาญา ตามหลักแล้วสามารถบวชได้หรือไม่? มาดูคำตอบกัน
อ้างอิงตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่17 ( พ.ศ. 2536
) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ หมวด 3 เรื่อง หน้าที่พระอุปัชฌาย์ ข้อ 14
ระบุ พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้
1.คนทําความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน
2.คนหลบหนีราชการ
3.คนต้องหาในคดีอาญา
4.คนเคยถูกตัดสินจําคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสําคัญ
5.คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
6.คนมีโรคติดตอเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น
วัณโรคในระยะอันตราย
7.คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได
พระครูสถิตย์บุญวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดด่าน
และเจ้าคณะเขตยานนาวา เผยตามกฎมหาเถรสมาคม ผู้ที่จะมาบวชได้
ต้องมีการตรวจสอบประวัติจากเลขบัตรประชาชนก่อน เพื่อป้องกันบุคคลที่หนีคดีมาบวช
และหากเป็นผู้ต้องหา ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี แม้ศาลจะยังไม่ตัดสินความผิด
หากต้องมีนัดรายงานตัวก็ไม่ควรให้บวช เพราะการห่มผ้าเหลืองไปรายงานตัวทางคดีอาญา
ถือว่าไม่เหมาะสม และกรณีข้าราชการบวช
ตามหลักต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานและมีหนังสือมายืนยัน
เพื่อใช้อ่านในโบสถ์ขณะทำพิธีอุปสมบท
ส่วนกรณีที่เป็นข่าว ผู้ที่ก่อคดีอาญาขับรถชนคนเสียชีวิต
สามารถบวชเป็นพระได้หรือไม่ นายสิทธา มูลหงษ์ โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนา เผย
เมื่อพิจารณาตามพระธรรมวินัยแล้ว ถือว่าไม่สามารถเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระได้
เพราะเป็นผู้ต้องคดีอาญาที่ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ
ได้แจ้งให้เจ้าคณะปกครองในพื้นที่ เข้าไปทำความเข้าใจกับพระอุปัชฌาย์แล้ว
ด้าน จตุรงค์ จงอาษา
นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงกรณีการบวชของสิบตำรวจตรีที่เป็นข่าวดัง
ว่า บวชได้บวชไม่ได้รู้อยู่แก่ใจ 1.ข้าราชการจะบวชต้องมีกำหนดชัด ไม่ใช่บวชไม่สึก
แบบนี้เรียกว่าละทิ้งหน้าที่ราชการ 2.ข้าราชการจะบวชต้องมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัด
ว่าไม่ได้หนีราชการมาบวช 3.หากเป็นผู้ต้องหาที่คดีไม่เป็นที่สิ้นสุด
ต้องมีกำหนดให้ชัดเจนว่าจะสึกเมื่อไร ไปขึ้นศาลจะไปในผ้าเหลืองก็ได้
แต่เมื่อคดีสิ้นสุด ศาลลงอาญาก็ต้องสึก 4.แบบนี้เข้าเกณฑ์มหาเถรสมาคม ข้อ1-2-3
พระสังฆาธิการที่บวชให้ควรรับการลงโทษตามจริยาพระสังฆาธิการ