อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อุบลราชธานี โชว์เทคโนโลยีเครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิก แบบอัตโนมัติเพื่อการผลิตยางก้อนถ้วย ช่วยเกษตรกรลดการสัมผัสสารเคมี ได้ยางก้อนถ้วยมีคุณภาพ
น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่น และการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี
น.ส.สุณีย์ เผยว่าการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกเพื่อการผลิตยางก้อนถ้วยกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชนยางพาราบ้านโนนแคน ต.ตบหู อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ที่ดำเนินการโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยโครงการดังกล่าวได้นําเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาสําคัญของชาวสวนยาง ในเรื่องการใช้กรดสําหรับการทํายางก้อนถ้วย
ทางคณะ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงวิจัยและพัฒนาเครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกเพื่อการผลิตยางก้อนถ้วย เป็นเครื่องแบบอัตโนมัติ โดยอาศัยหลักการเจือจาง น้ำกรดด้วยปั๊มลมดูดมาผสมกับน้ำ มีการควบคุมอัตราส่วนผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้เกษตรกรได้น้ำกรดที่มีคุณภาพในการผลิตยางก้อนถ้วย เกษตรกรลดการสัมผัสสารเคมี และได้ยางก้อนถ้วยมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน และได้นําผลงานไปถ่ายทอดให้แก่วิสาหกิจชุมชนยางพาราบ้านโนนแคน ต.ตบหู อ.เดชอุดม จ. อุบลราชธานี ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 80 ราย โดยวิสาหกิจได้ใช้เครื่องนี้เป็นอุปกรณ์ส่วนกลางเพื่อผลิตกรดฟอร์ มิกจําหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาถูก ส่งผลให้สมาชิกมีความสะดวก และได้กรดคุณภาพดี ปลอดภัย และไม่ ทําลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถผลิตยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย
ด้าน นายอำไพ พาพันธ์ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนยางพาราบ้านโนนแคน เผยโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกเพื่อการผลิตยางก้อนถ้วยกลุ่มวิสาหกิจได้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านใน ต.ตบหูอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่นี้ 80% ทำอาชีพชาวสวนยาง ซึ่งที่ผ่านมาจะเจอปัญหาด้านคุณภาพยาง แต่เมื่อมีการใช้งานเครื่องดังกล่าวเพื่อนำกรดฟอร์มิกมาผสมยางทำให้คุณภาพผลผลิตยางที่ได้เพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มรายได้ให้ชาวชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคายางไม่สูงมากนัก
นอกจากนี้ น.ส.สุนีย์ ได้เดินทางไปเปิดงาน “มหกรรมแสดงผลงานนวัตกรรมของเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(NESP Innovation Fair 2022)” ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นการแสดงความพร้อมของเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งในงานมีการแสดงผลงานจากโครงการประกวดผลงานนวัตกรรมระดับภูมิภาค ในสาขานักธุรกิจนวัตกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์เจลแต้มสิว Ortelra, เครื่องผลิตขนมเปี๊ยทุเรียนโดยงานดังกล่าวจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2565