X
อาวุธใหม่ กวาดขยะแม่น้ำเจ้าพระยา “Interceptor” ลำที่ 019 ของโลก

อาวุธใหม่ กวาดขยะแม่น้ำเจ้าพระยา “Interceptor” ลำที่ 019 ของโลก

3 เม.ย 2567
2050 views
ขนาดตัวอักษร

3 เม.ย.67 - The Ocean Cleanup เลือกแม่น้ำเจ้าพระยา ปล่อยเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ “Interceptor” ลำที่ 019 ของโลก ช่วยจัดการและลดปริมาณขยะลอยออกสู่ทะเล


พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ The Ocean Cleanup และกรุงเทพมหานครฯ พร้อมเครือข่ายพันธมิตร เปิดตัว “Interceptor 019” เรือดักจับขยะบนผิวน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ลำที่ 19 ของโลก ลอยลำประจำการในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ใต้สะพานพระราม 9 กทม. ส่วนหนึ่งของความร่วมมือเชิงวิจัย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในแม่น้ำสายสำคัญทั่วโลก


พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า “Interceptor 019” เรือดักจับขยะบนผิวน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ นับเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่นำมาใช้ในการฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม นับเป็นโอกาสดีของไทย ที่หน่วยงานพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม เห็นความสำคัญของการร่วมกันดูแลรักษาแม่น้ำสายสำคัญที่เชื่อมต่อกับทะเล ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ หนึ่งในวาระแห่งชาติ เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 


Interceptor 019 ลำที่ 19 ของโลกลำนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีในการจัดเก็บขยะพลาสติกลอยน้ำซึ่งจะช่วยบรรเทาและป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล รวมทั้งโอกาสในการศึกษาวิจัยระหว่างภาคีเครือข่ายภายใต้ความร่วมมือ นำไปสู่การกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการขยะทะเลของประเทศไทย ที่มีประสิทธิภาพต่อไป


ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โลกทั้งโลกเชื่อมกันด้วยสายน้ำ แต่สายน้ำก็นำพาขยะไปได้ด้วย หากเราไม่จัดการขยะที่ต้นทาง สุดท้ายขยะก็จะกองอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางในมหาสมุทร สำหรับเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพในการเก็บขยะเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพในอีก 2 ด้าน คือ

1. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกัน เพราะไม่มีทางที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน เช่นในครั้งนี้ก็เป็นความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชน

2. เป็นเครื่องเตือนใจว่าขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย กรุงเทพมหานครขอขอบคุณที่เลือกกรุงเทพฯ เป็นที่ติดตั้งของเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor 019) และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ กทม.จะร่วมมือกับทุกคนในการทำสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นต่อไป”


ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวว่า ทช. ได้ดำเนินการวางแผนป้องกัน แก้ปัญหา และศึกษาวิจัย เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์เป้าหมาย และให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภายในประเทศ ต่างประเทศ รวมถึงภาคเอกชน เป็นไปตามหลักการของการเป็นภาครัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) ในการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แสวงหารูปแบบการจัดการแนวใหม่ องค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาขยะทะเล อันจะนำไปสู่เครือข่ายอนุรักษ์ที่มีความเข้มแข็งและการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืน


สำหรับโครงการความร่วมมือการจัดการขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) เกิดขึ้นจากความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สนับสนุนโครงการฯด้วยการดูแลรับผิดชอบการจัดเก็บและคัดแยกขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และกำจัดขยะประเภทอื่น ๆ อย่างเหมาะสมต่อไป


สำหรับเครื่อง Interceptor นั้น คิดค้นโดยองค์กร The Ocean Cleanup ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินการด้านการจัดการขยะในทะเลจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยการทำงานของ เครื่อง Interceptor จะประกอบด้วย แผงทุ่นลอยน้ำที่โยงติดกับโรงเก็บขยะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายแพเรือที่ทอดสมออยู่ในแม่น้ำ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์และทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการควบคุม เป็นเครื่องดักขยะที่ช่วยลดปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล สามารถเก็บขยะได้วันละ 50,000 - 100,000 ชิ้น ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ในแม่น้ำ 15 สายของโลกที่จะมีนวัตกรรมดังกล่าวมาปฏิบัติการ 


ทั้งนี้ การดูแลรักษาความสะอาด จัดเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่การปฏิบัติงานตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงวัดโยธินประดิษฐ์ สุดเขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. โดยจะจัดเก็บทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำและกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. เป็นประจำทุกวัน อีกทั้งยังจัดกำลังเจ้าหน้าที่จัดเก็บวัชพืชและผักตบชวาเป็นพิเศษบริเวณสถานที่สำคัญ ๆ อาทิ หน้าวัดอรุณราชวราราม ท่าน้ำศิริราช เป็นต้น ซึ่งวัชพืชและขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปขึ้นที่ท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ ปากคลองบางกอกน้อย (ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์) ใต้สะพานพุทธ (คลองโอ่งอ่าง) และใต้สะพานพระราม 9 (ฝั่งพระนคร) จากนั้นจะนำวัชพืชและขยะไปกำจัดที่สถานีกำจัดมูลฝอยหนองแขม


ทั้งนี้จะมีการเก็บข้อมูลของขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจประเภทของขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา และมุ่งศึกษาวิธีการสกัดและดักจับขยะพลาสติกก่อนที่จะไหลเข้าสู่ช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะบรรจบกับอ่าวไทยและพัดพาขยะพลาสติกไปยังมหาสมุทร สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนและชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 11 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของเอเชีย


ที่ผ่านมาเรือดักจับขยะ Interceptor 019 ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการดักจับขยะแบบอัตโนมัติ และเป็น Interceptor ลำที่ 5 ของ The Ocean Cleanup ที่ติดตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้ความร่วมมือกับโคคา-โคล่า โดยได้ติดตั้งไปแล้ว 1 ลำในอินโดนีเซีย 1 ลำในเวียดนาม และ 2 ลำในมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง Interceptor ในสาธารณรัฐโดมินิกัน และเมืองลอสแอนเจลิส ในสหรัฐอเมริกา นับเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือระดับโลก เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมเพื่อช่วยป้องกันการเล็ดลอดของขยะพลาสติกจากแม่น้ำลงสู่มหาสมุทรทั่วโลก

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล