X
Unseen น้ำผุดบ้านท่าช้าง น้ำผุดใสแจ๋ว กับตะกอง สัตว์ประหลาดแห่งเขาใหญ่

Unseen น้ำผุดบ้านท่าช้าง น้ำผุดใสแจ๋ว กับตะกอง สัตว์ประหลาดแห่งเขาใหญ่

2 ม.ค. 2568
8470 views
ขนาดตัวอักษร

2 ม.ค.68 - เอ่อ…แปลกดี! Unseen น้ำผุดบ้านท่าช้าง น้ำพุใสแจ๋ว กับตะกอง สัตว์ประหลาดแห่งเขาใหญ่


ก่อนเดินทางกลับ กทม. มีเวลาอีกครึ่งวันที่เขาใหญ่ จะทำอะไรดีนะ ลองถามโซเชียลท้องถิ่น(คนท้องถิ่นเนี่ยแหละครับ) ในที่สุดก็ได้พิกัดหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ว่ากันต่อมาว่าน้ำที่นี่ใส่ราวกับกระจก แถมยังมีสัตว์ประหลาดซ่อนตัวอยู่


ว่าแล้วก็ออกเดินทางไปยัง ชุมชนบ้านท่าช้าง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อไปดูให้เห็นกับตากับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ “น้ำผุดปากช่อง หรือ น้ำพุธรรมชาติบ้านท่าช้าง” ที่มีมีลานจอดกว้างขวาง มีทั้งครอบครัว หรือคณะทัวร์ มาแวะต่อเนื่อง ก็อาจด้วยกระแสจากโซเชียลที่ใครมาแล้วก็ได้อวดความสวยงามของที่นี่ลงในช่องทางต่างๆ เหมือนบอกกันปากต่อปาก


และประทับใจแรกก็น่าจะเป็นเหล่าพ่อบ้านแม่บ้านของวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าช้าง ที่รอต้อนรับและคอยให้คำแนะนำกับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม และเรื่องเล่าต่างๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวอย่างเราได้ตื่นเต้นไปด้วย


ก่อนอื่นเลยกองทัพขอเติมพลังเครื่องดื่มก่อน ที่นี่ก็มีร้านกาแฟฟิลแคมปิ้งให้ได้ลิ้มรส ดื่มด่ำทั้งรสชาติชากาแฟ เคียงข้างสายน้ำของลำธารลำตะคอง สบายจนในเวลานั่งอยู่นานทีเดียว ก่อนจะขอไปดูให้เห็นกับตาว่าน้ำผุดธรรมชาติบ้านท่าช้างแห่งนี้จะใสแจ๋วอย่างที่ร่ำลือหรือเปล่า!


มาที่โซน “น้ำผุธรรมชาติบ้านท่าช้าง” เดินผ่านเข้าไปไม่กี่ก้าว ก็ต้องร้องว้าวเลยแหละ! ได้เห็นความใสแจ๋วของน้ำผุ หรือน้ำผุดธรรมชาติ แบบเต็ม 2 ตา น้ำอะไรจะใสแจ๋วได้ขนาดนี้ ใสจนเหมือนกระจก ใสจนเห็นว่าพื้นด้านล่างมีอะไรอยู่ “ใสมากกกกกก” ซึ่งจากข้อมูลบอกไว้ว่า “น้ำผุ หรือน้ำผุดธรรมชาติบ้านท่าช้าง” มีบ่อหรือชั้นลดหลั่นกันไปประมาณ 4 บ่อ และมีฝายกันน้ำ จึงมีลักษณะเป็นน้ำตกที่สามารถลงเล่นน้ำได้ ยกเว้น บริเวณที่เป็นตาน้ำที่ไม่สามารถลงเล่น


โดยน้ำที่ใสแบบนี่ได้เกิดจากน้ำฝนที่ตกสะสมอยู่ชั้นใต้ดิน สะสมจนมากพอเกิดเป็นตาน้ำผุดขึ้นมาจากผิวดิน ผุดออกมาตลอดทั้งปี น้ำจึงมีความใสสะอาดและมีสีคล้ายสีฟ้าอมเขียว เนื่องจากน้ำที่ผุดมาผ่านการกรองจากชั้นหินที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตสูง น้ำจึงมีความเป็นด่างสูง ฉะนั้นแม้จะใสแจ๋วแค่ไหนแต่ก็ต้องเลี่ยงการดื่มกินมากจนเกินไป เพราะอาจสะสมในร่างกายจนมีผลต่อสุขภาพได้ “เอ่อ…แปลกดี!”


และไม่ให้ร้อนเกินไป เราไปลงเรือพายคายัคในลำธารลำตะคอง ดีกว่าที่นี้ว่ากันอีกว่ามีสัตว์ประหลาดมักปรากฎตัวให้นักท่องเที่ยวเห็นอีกด้วย ไปกันเลย! จากจุดนี้เราต้องพายเรือคายัคไปตามคลองลำตะคอง ก็มีระยะทาง 2 ระยะให้นักท่องเที่ยวเลือกว่าจะพายระยะสั้นไปกลับ 600 เมตร ใช้เวลาไปกลับประมาณ 30 นาที ค่าบริการคนละ 100 บาท หรือจะระยะไกลไปกลับ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าบริการเพิ่มมาอีกนิดคนละ 170 บาท ซึ่งพี่คนนำทางบอกว่าระยะไกลได้เจออะไรมากกว่า จัดไป 1 กิโลเมตร ลุยกันเลย “เอ่อ…แปลกดี”


ลงเรือแบบทุลักทุเลหน่อย ตามสไตล์แต่ย้ำว่าต้องสวมเสื้อชูชีพตลอดการพายเรือเลยนะ เพื่อความปลอดภัย เพราะบางจุดของลำน้ำลึกมากกว่า 2 เมตร ซึ่งจริงๆ แล้วหากมาช่วงที่ฝนไม่ได้ตกมาก่อนหน้านี้นะ น้ำในธารน้ำแห่งนี้จะใสแจ๋วเหมือนกับน้ำผุดด้านบนเลย แต่หากมีฝนตกมา 1–2 วันก่อนหน้า น้ำก็จะขุ่นนิดหน่อยแต่คงความชิลได้เหมือนเดิม แต่ก็ยังใส่พอที่เราจะได้เห็นพืชน้ำท้องถิ่น “สันตะวาใบข้าว” พืชน้ำที่บ่งชี้ถึงความสะอาดของแหล่งน้ำที่นี่



พายไปพายมาก็ได้เห็นกับน้ำกระรอกขาว ที่อวดหางพวง มาแทะลูกไม้ลูกมะเดื่อกินสบายใจ และระหว่างกวาดสายตาชมธรรมชาติ สัญญานจากพี่ไกด์นำพายก็ชี้ให้ดูที่กิ่งไม้ ในที่สุดเราก็เจอกับสัตว์ประหลาดแห่งน้ำผุดบ้านท่าช้างแล้ว เจ้าตัวนั่นก็คือ “ตะกอง” จากข้อมูลของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกไว้ว่า ตะกอง หรืออีกชื่อเรียกว่า ลั้ง เป็นสัตว์เลื้อยคลานในวงศ์กิ้งก่า ที่พบได้ในประเทศไทย และจัดเป็นกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยอีกด้วย  


ตะกอง มีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่จมูกจนถึงปลายหาง 90 ถึง 120 เซนติเมตร จึงเป็นกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยปกติลำตัวของตะกองมีสีเขียวเข้ม เขียวสด มีเกล็ดปกคลุมผิวหนัง เกล็ดบริเวณหัว หลัง และหางมีลักษณะเป็นตุ่ม เรียงตัวห่างกัน ส่วนบนหัวทางด้านท้ายทอย หลัง และหางจะมีหนามที่ยาวเรียงตัวเป็นแถวตามยาวในแนวกลางตัว ปลายหางมีแถบสีดำเป็นปล้อง ๆ ตะกองวัยอ่อนบางตัว ใต้คางและส่วนหัวจะมีสีม่วงหรือสีฟ้า เมื่อเข้าสู่ตะกองวัยรุ่นจะมีลายบั้งจาง ๆ สีขาวตามตัว และจะหายไปเมื่อโตเต็มวัย เมื่อโตขึ้น ตัวผู้ข้างแก้มจะมีสีชมพู และบริเวณส่วนหัวด้านบนจะมีโหนกนูนขึ้นเห็นชัดเจน ส่วนตัวเมียจะมีความนูนน้อยกว่า ตะกองมีอายุขัยเฉลี่ย 10–15 ปี


ตะกองยังสามารถเปลี่ยนสีลำตัวให้เข้มขึ้นหรืออ่อนลงตามความรู้สึกที่มันรู้สึกอยู่ได้ เช่น หากรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือถูกคุกคาม ก็จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นทันที พฤติกรรมเช่นนี้ยังเป็นการพรางตัวเพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรูได้อีกด้วย ตะกองสามารถกินอาหารได้หลากหลายประเภท ทั้งแมลง กบ เขียด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก ผลไม้บางชนิด และยังสามารถดำน้ำจับปลามากินเป็นอาหารได้อีกด้วย 


ตะกองมักนอนหลับอยู่ปลายกิ่งไม้ ที่โน้มไปหาแหล่งน้ำ อาศัยอยู่บริเวณริมห้วยที่มีต้นไม้หนาแน่น ในกลุ่มไม้ที่เติบโตอยู่ข้างลำห้วยที่ไหลผ่านผืนป่า และเป็นห้วยที่มีน้ำตลอดทั้งปี ด้วยพฤติกรรมการกินอาหารที่มีความหลากหลาย และต้องอาศัยอยู่บริเวณที่มีน้ำตลอดทั้งปี ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์หรือชี้ให้เห็นว่า “การมีตะกองในพื้นที่ใดนั้น แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร” ตะกองจึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ได้ โดยตะกอง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535


และตะกองยังเป็นที่มาของชื่อลำตะคอง แม่น้ำสายสำคัญของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยในอดีตเชื่อว่ามี “ตะกอง” อาศัยอยู่จำนวนมาก จึงเรียกลำน้ำแห่งนี้ว่า “ลำตะกอง” แต่ต่อมามีการเพี้ยนคำจนกลายเป็นคำว่า “ลำตะคอง” แบบในปัจจุบัน


ถือว่าได้อิ่มกับความสดชื่อของลำธารจากน้ำผุดธรรมชาติ ได้เห็นความพิเศษของน้ำที่ใสมากๆ และเหล่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะ “ตะกอง” ที่ทำให้เรารู้ว่าถ้าเรารักธรรมชาติ และอยู่อย่างเกื้อกูลกัน ธรรมชาติก็จะดูแลเราทั้งกายทั้งใจ แวะมาเที่ยวกันนะ “น้ำผุดธรรมชาติบ้านท่าช้าง”



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)