X
ยกพวก!! เข้าไทยแล้ว โอไมครอนพันธุ์ย่อย WHO เฝ้าติดตาม

ยกพวก!! เข้าไทยแล้ว โอไมครอนพันธุ์ย่อย WHO เฝ้าติดตาม

3 พ.ย. 2565
380 views
ขนาดตัวอักษร

กรมวิทย์ฯ แถลง ไทย พบโอไมครอน สายพันธุ์ย่อยที่ องค์การอนามัยโลก ระบุให้เฝ้าติดตามเพิ่มขึ้น มีทั้งสายพันธุ์ BA.2.3.20 ที่แพร่ระบาดรวดเร็ว และ BA.4.6 ที่หลบภูมิคุ้มกันเก่ง แม้ว่าได้รับวัคซีน หรือ มีภูมิคุ้มกันจากเคยติดเชื้อ รวมถึงสายพันธุ์ย่อย ที่ดื้อต่อยา แอนติบอดีสำเร็จรูป เกือบทุกประเภท ได้ยกพวก เข้าไทยแล้ว



โดย กรมวิทย์ฯ เผย โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.3.20 พบในไทยแล้ว 2 ราย มีแนวโน้มแพร่เร็ว ขณะที่ BA.4.6 ซึ่งมีแนวโน้มหลบภูมิได้ดี พบในไทย จำนวน 3 ราย ส่วน XBB.X พบแล้ว 5 ราย ทั้งหมดยังไม่พบ สัญญาณที่น่ากังวล

เมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน 2565) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ แถลงข่าวอัปเดตสถานการณ์ การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทยว่า จากการเฝ้าระวัง สายพันธุ์โควิด 19



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่าย ขณะนี้ สายพันธุ์หลัก ที่พบยังเป็น โอไมครอน และการติดเชื้อส่วนใหญ่ ยังเป็น BA.5 เช่นเดียวกับทั่วโลก และพบสายพันธุ์ย่อยที่ องค์การอนามัยโลก ระบุให้เฝ้าติดตามเพิ่มขึ้น เช่น XBB, BA.4.6 และ BQ.1 โดยแต่ละพื้นที่ อาจพบการระบาด สายพันธุ์ที่ต่างกัน เช่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา รายงานแนวโน้มสายพันธุ์ BQ.1, BQ.1.1 เพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานว่า สายพันธุ์ BQ.1 หรือ BQ.1.1 มีความรุนแรงกว่า BA.4 หรือ BA.5

นายแพทยศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับข่าวที่ระบุว่า มีสายพันธุ์ใหม่ ขอยืนยันว่า ขณะนี้ ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ โดยยังเป็น สายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้ เช่น เดลตา, อัลฟา, แกมมา, โอไมครอน

สายพันธุ์ย่อยที่ องค์การอนามัยโลก ระบุให้เฝ้าติดตาม ที่เริ่มพบในประเทศไทย เช่น

สายพันธุ์ BA.4.6 มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น เช่น BA.1, BA.2, BA.4 และ BA.5 พบว่า ภูมิคุ้มกันของคน ที่ได้รับวัคซีน หรือติดเชื้อมาก่อน ลบล้างเชื้อ หรือฆ่าเชื้อ BA.4.6 ได้น้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง แสดงว่า คนที่ได้รับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อมา จะได้ผลต่อ BA.4.6 น้อยลงไปครึ่งหนึ่ง ขณะนี้พบ 3 รายแล้ว

สายพันธุ์ BA.2.3.20 ซึ่งเป็นลูกหลานของ BA.2 มีการกลายพันธุ์ อยู่หลายตำแหน่ง มีแนวโน้มแพร่เร็ว แต่ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรง ขณะนี้ พบในประเทศไทยแล้ว 2 ราย ทั้งคู่หายแล้ว

ส่วน AY.103 ซึ่งเป็นลูกหลานเดลต้า ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เพียงแต่มีตำแหน่งกลายพันธุ์ ที่เพิ่มจากเดลต้าเดิม ซึ่งยังไม่มีหลักฐาน แสดงความรุนแรง ที่เพิ่มขึ้น และมีรายงานเข้าฐานข้อมูล GISAID เพียงรายเดียว จึงยังไม่ต้องกังวลอะไร ประเทศไทยยังไม่พบ



นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (22 - 28 ตุลาคม 2565) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังตรวจการกลายพันธุ์ โควิด 19 จำนวน 143 ตัวอย่าง พบเป็น

+ สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 5 ราย

+ สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 จำนวน 118 ราย

+ สายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 10 ราย

+ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ 10 ราย

+ และสิ่งที่น่าสนใจ คือ พบ BA.2.75 ถึง 10 ราย ในบางพื้นที่ ซึ่งเดิมบางสัปดาห์ พบเพียง 3 - 5 ราย ถือว่าเพิ่มขึ้น จะต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไป

โดยอนาคต เราจะจับตาดู BQ.1 ว่า จะเพิ่มจำนวน เหมือนในยุโรป และสหรัฐอเมริกา หรือไม่ ซึ่งจะต้องเพิ่มน้ำยา ตรวจจำเพาะต่อสายพันธุ์ BQ ทั้งหลายด้วย



ทั้งนี้ โดยสรุป จำนวนสายพันธุ์ย่อย ที่น่าสนใจ และ องค์การอนามัยโลก ระบุให้เฝ้าติดตาม ซึ่งประเทศไทย พบและได้เผยแพร่ ในฐานข้อมูล GISAID ได้แก่ BF.5 พบ 6 ราย, BF.7 พบ 2 ราย, BQ.1 พบ 2 ราย, BE.1 พบ 5 ราย, BE.1.1 พบ 2 ราย, BN.1 พบ 9 ราย, BA.4.6 พบ 3 ราย, XBB.X พบ 5 ราย และ BA.2.3.20 พบ 2 ราย ข้อมูลดังกล่าวได้รายงานให้ กรมควบคุมโรค เพื่อติดตามสอบสวนโรคต่อไป

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกลายพันธุ์ เป็นเรื่องปกติของไวรัส และมีการแตกลูกหลาน จำนวนมาก ซึ่งยังไม่มีสัญญาณ ของความรุนแรง ที่เพิ่มเติมจากปกติแต่อย่างใด ประกอบกับผู้คนในโลก มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งจากการติดเชื้อ และการฉีดวัคซีน ทำให้อัตราการเสียชีวิต ก็ลดน้อยลง

สำหรับประเทศไทย ยังมีมาตรการป้องกัน ใส่หน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ยังมีความสำคัญ ในการช่วยลดการติดเชื้อ โดยเฉพาะ ในช่วงฤดูหนาวนี้ อาจมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่าย ขอให้ความมั่นใจ กับพี่น้องประชาชนว่า จะทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามการกลายพันธุ์ ของเชื้อโควิด 19 อย่างเข้มข้น และ ไม่ลดน้อยถอยลง

รับชมคลิปฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวความคืบหน้า การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19
https://www.youtube.com/watch?v=hYTLq3TIhfY

ไฟล์เอกสาร : ข้อมูลการจำแนก ตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง และการกลายพันธุ์ของเชื้อ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)
https://pr.moph.go.th/_WEBADMIN/uploads/attfiles/dw7oqqp9w3wosskg0c.pdf




ทั้งนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลที่ได้รวบรวมในช่วง 1 เดือนก่อน (ต.ค.2565) จาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ความได้เปรียบ ในการเติบโต - การแพร่ระบาด และการกลายพันธุ์ของ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยต่าง ๆ ที่ องค์การอนามัยโลก ระบุให้เฝ้าติดตาม ซึ่งได้โพสต์ให้ความรู้ ในเรื่องดังกล่าวว่า



เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565
นักวิจัยทั่วโลก ได้ร่วมกันถอดรหัส พันธุกรรมทั้งจีโนม ของไวรัสโคโรนา 2019 มาตลอด 3 ปี ทำให้สามารถ นำข้อมูลดังกล่าว มาสร้างเป็นต้นไม้ แห่งการวิวัฒนาการ ของไวรัสโคโรนา 2019 (ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สมรรถนะสูง) เริ่มตั้งแต่ต้นกำเนิดจาก “ไวรัสอู่ฮั่น” ได้มีการวิวัฒนาการกลายพันธุ์ เกิดเป็นทั้งสายพันธุ์หลัก และสายพันธุ์ย่อยแตกกิ่งก้าน มาทดแทนกันอย่างต่อเนื่อง (phylogenetic tree) จนล่าสุดเกิดเป็น โอไมครอน “กลุ่มเพนตากอน” (pentagon variants) อย่างน้อย 6 สายพันธุ์ย่อย BQ.1.1, BF.7, BA.2.3.20, BA.2.75.2, BN.1, และ XBB

จากฐานข้อมูล รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม โควิดโลก “GISAID” (14 ตุลาคม 2565) ในประเทศไทย พบโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย
BF.7 จำนวน 2 ราย
BN.1 จำนวน 3 ราย
BA.2.75.2 จำนวน 5 ราย

แม้จากข้อมูล GISAID จะพบการระบาด ของแต่ละสายพันธุ์ อยู่ในราว 200 - 2,000 ราย แต่มีการเพิ่มจำนวนมากกว่า 105% หรือเท่าตัว ในทุก ๆ สัปดาห์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก คาดว่า จะระบาดมาแทนที่ BA.5 ในสิ้นปีนี้ หรือ ต้นปี 2566



เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565
โอไมครอน “กลุ่มเพนตากอน” (pentagon variants) ประเทศไทย พบแล้ว 2 สายพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก กำลังติดตาม โอไมครอน สายพันธุ์ใหม่ 5 สายพันธุ์หลัก BQ.1.1, BA.2.3.20, BA.2.75.2, BN.1 และ XBB ที่กำลังแพร่เพิ่มจำนวน

โอไมครอน 5 สายพันธุ์ใหม่ จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ที่ได้รับจาก การติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนได้ดี และดื้อต่อยา แอนติบอดีสำเร็จรูป (monoclonal antibody) เป็นส่วนใหญ่

BA.2.3.20 จะดื้อต่อ ยาแอนติบอดีสำเร็จรูป บางประเภท ในขณะที่ BQ.1.1, BA.2.75.2, BN.1 และ XBB จะดื้อต่อยาแอนติบอดีสำเร็จรูป เกือบทุกประเภท รวมทั้ง อีวูชิลด์ (Evusheld), ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibody - LAAB) แบบผสม (ภาพ 6)

(8 ตุลาคม 2565) ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก แสดงให้เห็นว่า โอไมครอน “กลุ่มเพนตากอน” เมื่อติดเชื้อแล้ว จะก่อให้เกิดการเจ็บป่วย ที่รุนแรง หรือเสียชีวิต แตกต่างไปจาก โอไมครอน สายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 / BA.2 อย่างมีนัยสำคัญ



เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565
โอไมครอน กลายพันธุ์  3 สายพันธุ์หลัก BA.2.75.2, BA.2.3.20 และ BQ.1.1 ที่ควรเฝ้าระวัง อาจมาแทนที่ BA.5  ตรวจพบ ในแถบยุโรปหลายประเทศ และอาจเป็นชนวน ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ หรือ "Next Wave of  COVID-19" เมื่อซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว
ปรับปรุง 4/10/2565  เวลา 10:08

ความได้เปรียบ ในการเติบโต - แพร่ระบาด (relative growth advantage)
BA.2.3.20 > BQ.1.1 > BA.2.75.2 เมื่อเทียบกับ BA.5 (ภาพ 4.0)
BA.2.3.20 เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 1.8 เท่า (184%) (ภาพ 6)



ความได้เปรียบ ในการเติบโต - แพร่ระบาด (relative growth advantage)
BA.2.3.20 เหนือกว่า BA.2.75.2 ประมาณ 1.1 เท่า (110%) (ภาพ 7)
BA.2.3.20 แตกต่างจาก BQ.1.1 ไม่มากประมาณ 0.01 เท่า (1%)



(1 ตุลาคม 2565) ขณะนี้ BA.2.3.20 และ BQ.1.1 กำลังระบาดเข้ามาแทนที่ BA.5, BA.4.6 และ BA.2.75.2 ในหลายประเทศทั่วโลก

BA.2.3.20 มีการกลายพันธุ์ 10 ตำแหน่ง M135T, N164K, H245N, G257D, K444R, N450D, L452M, N460K, E484R และ R493Q แต่ยังโชคดีที่ แอนติบอดีสำเร็จรูปส่วนใหญ่ รวมทั้งแอนติบอดีค็อกเทลทั้ง “เอวูเชลด์ (Evusheld” และ “เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab)” ยังสามารถใช้ยับยั้ง การเพิ่มจำนวนของ BA.2.3.20 ในหลอดทดลองได้ดี (ภาพ 9 - 10)




#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th

เว็บไซต์ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
https://www3.dmsc.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : Center for Medical Genomics
(ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)

https://www.facebook.com/CMGrama



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)