X
“น้องหมา-แมว” ก็เป็นฮีทสโตรกได้อันตรายอาจถึงชีวิต

“น้องหมา-แมว” ก็เป็นฮีทสโตรกได้อันตรายอาจถึงชีวิต

7 เม.ย 2566
1310 views
ขนาดตัวอักษร

อากาศร้อนๆ แบบนี้ สัตว์เลี้ยงแสนรักของเราอย่างน้องหมาน้องแมว ก็มีโอกาสเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกได้ มีอันตรายไม่แพ้กับอาการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ หากอาการหนักและไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจอันตรยาถึงชีวิตได้เลยทีเดียว


“ฮีทสโตรก” (heatstroke) หรือที่หลายคนเรียกว่าโรคลมแดด เป็นอาการที่เกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถลดอุณหภูมิกายลงได้ เนื่องจากอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิร้อนจัด และเป็นผลให้เกิดอันตรายต่อระบบอวัยวะในร่างกายหลายๆ ส่วนได้ หากอาการหนักและไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจอันตรยาถึงชีวิตได้  แต่ที่ใครหลายอาจยังไม่ทราบ คือนอกจากมนุษย์แล้ว สัตว์เลี้ยงยังเสี่ยงต่ออาการฮีทสโตรก และมีอันตรายไม่แพ้กับอาการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เช่นเดียวกัน


อาการของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง ก็คล้ายกับคน คือ เกิดจากการที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว และระบายความร้อนออกสู่ภายนอกไม่ทัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวมีอาการตัวร้อน ได้แก่ เป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดไข้สูง การทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถ หรือที่ที่มีอากาศร้อนจัดนานๆ

 

สัญญาณอันตราย "หมาแมว" เป็นฮีทสโตรกช่วงหน้าร้อน หอบ หายใจเร็ว ลิ้นแดงสด น้ำลายหนืดเหนียว อ่อนแรง ม่านตาขยาย ช็อก เป็นลมหมดสติ โดยทั่วไปแล้วสุนัขจะมีการระบายความร้อนออกจากตัวด้วยการหายใจหรือหอบออกมา ดังนั้น ให้เราสังเกตว่าหากสุนัขหอบมากกว่าปกติอาจเป็นไปได้ว่าในร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไปแล้ว 


 

วิธีตรวจสอบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการตัวร้อนหรือไม่หากเป็นมนุษย์ จะใช้วิธีการแตะหน้าผาก แต่หากเป็นสุนัขหรือแมวให้เราตรวจสอบได้ที่บริเวณขาหนีบเนื่องจากมีขนน้อยที่สุดและเป็นแหล่งรวมเลือดไหลเวียน โดยใช้หลังมือมาแตะบริเวณขาหนีบ (เหมือนเราแตะหน้าผาก) ซึ่งอุณหภูมิปกติของสุนัขและแมวจะอยู่ที่ประมาณ 37-38 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปรอทวัดไข้สำหรับสุนัขโดยเฉพาะได้ โดยจะมาในรูปแบบปรอทที่มีส่วนปลายกลมเล็ก และต้องวัดทางทวารหนักเท่านั้น 


วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นฮีทสโตรก หากเราตรวจสอบแล้วว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการของโรคลมแดดจริง ให้เรารีบช่วยเหลือเบื้องต้น ดังนี้ นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเท นำน้ำเย็นใส่ขวด หรือน้ำแข็งใส่ถุงมาประคบบริเวณที่บริเวณ ขาหนีบ หรือใต้รักแร้ รวมถึงบนหัวสักพัก รีบพาไปพบสัตวแพทย์ใกล้บ้านเพื่อทำการรักษาต่อไป


ข้อมูล : ศูนย์สาธารณสุข 26 กรุงเทพมหานคร , รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)