X
ดีอี-สกมช. แถลงผลสำเร็จพัฒนาบุคลากร ความมั่นคงไซเบอร์

ดีอี-สกมช. แถลงผลสำเร็จพัฒนาบุคลากร ความมั่นคงไซเบอร์

2 พ.ค. 2568
330 views
ขนาดตัวอักษร

สกมช. แถลงผลสำเร็จพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บรรลุผลเกินคาด ยกระดับนักไซเบอร์ไทยทัดเทียมสากล เลขาฯ สกมช. เผยไทยมีผู้สอบผ่านใบประกาศ CISSP เพิ่ม 12%ตอกย้ำศักยภาพความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ไทย ชี้ก้าวต่อไปต่อยอดความสำเร็จ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ รับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ "ประเสริฐ จันทรรวงทอง" รมว.ดีอี ยันต้องแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อย่างเร่งด่วน เพิ่มความรวดเร็วอายัดบัญชีแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) รายงาน ความสำเร็จและปิดโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 2 (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program II) โดยมีบริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินงานในโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งได้มีพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ "ศิษย์เก่าดีเด่น THNCA ประจำปี 2568" ได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( ดีอี )เป็นประธาน ร่วมด้วย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และคณะผู้บริหาร สกมช. 


พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวรายงานผลการดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ว่าดำเนินการโดยสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (Thailand National Cyber Academy-THNCA) ภายใต้การดูแลของ สกมช. และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งนับว่าเป็นโครงการสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันภัยคุกคามไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกวงการ ส่งผลให้การเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ 

 

โครงการนี้มุ่งยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติงาน บุคลากรด้านเทคนิค ไปจนถึงระดับผู้บริหารของหน่วยงาน โดยจัดอบรมหลักสูตรที่ครอบคลุมทุกระดับ ได้แก่ หลักสูตรพื้นฐานและหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้บุคลากรมีรากฐานด้าน Cybersecurity หลักสูตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่เน้นทักษะเฉพาะทาง คือ การวิเคราะห์ภัยคุกคามไซเบอร์, การทดสอบเจาะระบบ, ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องของระบบควบคุมอุตสาหกรรม (OT Security), การเจาะระบบอย่างมีจริยธรรม, การตรวจพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล และความปลอดภัยระบบสารสนเทศระดับสูง เพื่อให้ผู้บริหารเข้าใจแนวทางการกำกับดูแลและการจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์ 

 

พลอากาศตรี อมร กล่าวว่าผลสำเร็จของโครงการฯ ในระยะที่ 2 ประสบความสำเร็จเกินจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้อย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการฯ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านความมั่นคงไซเบอร์ ทั้งรูปแบบห้องเรียนปกติ (On-site) และรูปแบบออนไลน์ (e-learning) จำนวนมากกว่า 13,000 คน จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 6,650 คน โดยมีทั้งกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ บุคลากรในสังกัดหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และกลุ่มเป้าหมายรอง คือ ประชาชนทั่วไปทุกกลุ่มทุกช่วงวัยที่ต้องการพัฒนาความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามในโลกดิจิทัล

 

"อีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ คือจากผลการดำเนินงานโครงการฯ ในระยะที่ 2 นี้ ส่งผลให้จากเดิมที่ประเทศไทยมีผู้สอบผ่านใบประกาศนียบัตร CISSP เพียง 385 คน ปัจจุบันมีผู้สอบผ่านใบประกาศนียบัตร CISSP จำนวนทั้งหมด 431 เพิ่มขึ้น 46 คน หรือ 12% หมายความว่าปัจจุบันในประเทศไทยของเรามี CISSP ทั้งหมดเป็นจำนวนถึง 431 คนแล้ว จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนี้ สะท้อนถึงคุณภาพของการฝึกอบรมที่มีมาตรฐานสูง และสามารถยกระดับศักยภาพของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม" พลอากาศตรี อมร กล่าว และว่านอกจากนี้ยังส่งเสริมการสอบใบประกาศนียบัตร และใบรับรองความเชี่ยวชาญไซเบอร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้บุคลากรสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างมีมาตรฐาน


พลอากาศตรี อมร กล่าวอีกว่าความสำเร็จสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการเปิดตัวสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (THNCA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านการเรียนรู้และวิจัย เพื่อเสริมสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถแข่งขันในระดับสากล และปฏิเสธไม่ได้ว่าผลความสำเร็จของโครงการนี้ คือหนึ่งบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม

 

จากนั้น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรระดับผู้บริหาร Executive CISO#2 และมอบโล่เชิดชูเกียรติ "ศิษย์เก่าดีเด่น THNCA ประจำปี 2568"  

 

นายประเสริฐ กล่าวปิดโครงการฯ ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจ และภาครัฐ โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 2 จึงมีบทบาทสำคัญ ในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน จนถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ ภายใต้นโยบาย “The Growth Engine of Thailand” กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงการสร้างบุคลากรที่มีขีดความสามารถ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศได้อย่างยั่งยืน 

 

นายประเสริฐ กล่าวว่าแนวทางการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล จะต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านแผนงานการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์โดยเร่งด่วน โดยจะประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบและจับกุมผู้เปิดบัญชีแทน / บัญชีม้าในประเทศไทย เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ 

 

นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ตามแผนกระทรวงฯจะเพิ่มประสิทธิภาพระบบการอายัดบัญชีให้ทันท่วงที ควบคู่ไปกับการป้องกันการจู่โจมทางไซเบอร์จากต่างประเทศ ผ่านแผนงานการสร้างศูนย์เตือนภัยไซเบอร์ (Cyber Alert Center) ที่มีประสิทธิภาพ  ส่งเสริมการยกระดับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศทุกระดับ เตรียมความพร้อมภาครัฐและภาคเอกชนด้านข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยการให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดความพร้อมด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการส่งเสริมระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ทั้งในระดับความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดและระดับทั่วไป 

 

โครงการนี้เป็นความพยายามสำคัญในการเร่งรัดพัฒนาความรู้และทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากร โดยเน้นการเรียนรู้เชิงลึก ฝึกปฏิบัติจริง และสร้างเครือข่ายความร่วมมือซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร แต่ยังส่งผลเชิงบวกต่อประเทศในการยกระดับความสามารถการแข่งขัน การสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเชิงระบบให้แก่ประเทศในการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายประเสริฐกล่าว

 

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า มีหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับผู้บริหาร (Executive CISO) รุ่นที่ 2 ซึ่งมีผู้บริหารเข้าร่วมอบรม จำนวน 73 คน หลักสูตรนี้เป็นการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ผู้บริหาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบาย และการบริหารจัดการความมั่นคงไซเบอร์ในระดับองค์กรและระดับชาติ เตรียมความพร้อมภาครัฐและภาคเอกชนด้านข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรในระดับประเทศ

 

"สำหรับก้าวต่อไป คือการต่อยอดความสำเร็จของโครงการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้บุคลากรไทยมีศักยภาพในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ทุกท่านได้รับจากโครงการนี้จะเป็นพลังสำคัญในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาประเทศ และช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายทางไซเบอร์ได้อย่างมั่นใจต่อไป"

 

นายประเสริฐ กล่าวแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมโครงการและได้รับประกาศนียบัตร รวมทั้งผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่น THNCA 2568 ว่าใบประกาศนียบัตรเหล่านี้ถือเป็นเครื่องหมายแห่งความเชี่ยวชาญและสะท้อนถึงมาตรฐานระดับสูงของบุคลากรไทย ที่มีความสามารถในการปกป้องระบบสารสนเทศและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ  

 

"วันนี้ไม่ใช่แค่ปิดโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 2 เท่านั้น แต่เป็นการเปิดประตูสู่อนาคตของประเทศไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และผมมั่นใจว่าก้าวต่อไปของเราจะนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น" นายประเสริฐ กล่าวในตอนท้าย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับศิษย์เก่าดีเด่น สถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (THNCA) ประจำปี 2568 มีดังนี้ 

 

สาขาเกียรติยศแห่งสถาบัน ได้แก่ 

1.พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2.นางปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

3.นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

4.นายมงคล วิมลรัตน์  อธิบดีกรมพลศึกษา

5.นายพีรเดช ณ น่าน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

6.นายแพทย์ นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์  นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ และรองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

สาขาการอุทิศตนเพื่อภารกิจของรัฐ ได้แก่  พันเอก จารุกฤษณ์ เรืองสุวรรณ   

สาขาผู้นำด้านความมั่นคงไซเบอร์ระดับนานาชาติ ได้แก่ นางฐิติมา คงเมือง

สาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้แก่ นายวรกร คุรุวงศ์วัฒนา   

สาขาจิตอาสาไซเบอร์เพื่อสังคม ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยูร ใยบัวเทศ   

สาขาผู้นำด้านการพัฒนาบุคลากรไซเบอร์  ได้แก่  พันตำรวจโท วงศ์ยศ เกิดศรี   

สาขาความเป็นเลิศในระดับสากล  ได้แก่ นายสิทธิกร แสงรัตนพิทักษ์   

สาขาความเป็นเลิศในสายราชการ ได้แก่  นายประเสริฐ เทพภาพ  

สาขาความเป็นเลิศภาคเอกชน ได้แก่ นายพลากร ลาภอลงกรณ์   

สาขาผู้ส่งเสริมองค์ความรู้และมาตรฐาน ได้แก่  นายศิระ ศิลานนท์   

สาขาผู้นำด้านการสร้างชุมชนความรู้ด้านไซเบอร์ ได้แก่  นายเมฆินทร์ วรศาสตร์  

สาขาบูรณาการกฎหมายดิจิทัล  ได้แก่ นายสันต์ภพ พรวัฒนะกิจ 

สาขาพลังสร้างสรรค์ไซเบอร์รุ่นใหม่  ได้แก่  นายศราวุฒิ พูลเขตต์

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)