X
ผู้ประกอบการชี้แจงขึ้นราคาเนื้อหมู-ไข่ไก่

ผู้ประกอบการชี้แจงขึ้นราคาเนื้อหมู-ไข่ไก่

26 เม.ย 2567
620 views
ขนาดตัวอักษร

อธิบดีกรมการค้าภายใน หารือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ แจงเหตุที่ขึ้นราคาหมูและไข่ไก่ ชี้อากาศร้อนสุกรไม่ค่อยกินอาหารทำโตช้า ไข่ไก่มีขนาดเล็กลง


นายวัฒนศักย์  เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน รายงานสถานการณ์ราคาสินค้าโดยราคาข้าว ที่ขยับขึ้น คือ ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ยสัปดาห์นี้ 11,800 บาทต่อตัน จาก 11,550 บาทต่อตันในสัปดาห์ก่อน  ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย 13,400 บาทต่อตัน จาก 13,300 บาทในสัปดาห์ก่อนหน้า และข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ยตันละ 14,800 บาท เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ 14,740 บาท ส่วนชนิดอื่นยังทรงตัวระดับสูง ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ยที่ตันละ 14,850 บาท สูงสุดที่ตันละ 15,500 บาท  ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เฉลี่ยตันละ 14,600 บาท สูงสุดตันละ 15,200 บาท


ขณะที่ มันสำปะหลัง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.20 บาท สูงสุด 3.40 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 9.43 บาท สูงสุด 9.60 บาท โดยราคาหน้าโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ 10.10 – 10.20 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนผลปาล์มน้ำมัน ลดลงเล็กน้อย เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.10 บาทสูงสุด 5.40 บาท สอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด เฉลี่ย 44.63 บาทต่อขวดลิตร ลดลงจากสัปดาห์ก่อน ที่ขวดละ 45.13 บาท 


ส่วนราคาผัก หลายชนิดแม้จะปรับตัวสูงขึ้น ตามสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตเสียหายได้ง่าย แต่จากการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมใช้กลไกการเชื่อมโยงจากแหล่งผลิต ไปเติมยังจุดสินค้าให้มีเพิ่มมากขึ้น และมีราคาสูง รวมทั้งไปจำหน่าย ผ่านรถโมบายธงฟ้า ทุกวัน ในชุมชนพื้นที่ กรุงเทพและปริมณฑล ทำให้แนวโน้มราคาเริ่มย่อลงแล้วเล็กน้อย โดยในตลาดกลางสำคัญ อย่าง “สี่มุมเมือง”  ราคาผักชี ลดลงเหลือกิโลกรัมละ 160 บาท จากวันก่อนหน้าอยู่ที่ 180 บาท คะน้า จากกิโลกรัมละ 36 บาท ลดลงเหลือ 30 บาท กะหล่ำปลี จากกิโลกรัมละ 20 บาทเหลือ 16 บาท ผักกาดหอม จากกิโลกรัมละ 60 บาทเหลือ 55 บาท ผักบุ้งจีน ลดลง 1 บาท จากกิโลกรัมละ 16 บาทเหลือ 15 บาท แตงกวา จากกิโลละ 28 บาทเหลือ 22 บาท ถั่วฝักยาว จากกิโลกรัมละ 70 บาทเหลือ 64 บาท มะนาว เริ่มลดลงแล้วจากลูกละ 5.30 เหลือ 4.10 บาท ทั้งนี้ หากในช่วงเดือนพฤษภาคม ฝนเริ่มตก ก็จะทำให้สถานการณ์ราคาผักคลี่คลาย


เช่นเดียวกับราคาเนื้อหมู และไข่ไก่ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน ทำให้ทำผลิตลดลง โดยจากช่วงก่อนหน้านี้ มีการประกาศขึ้นราคามาแล้วหลายรอบ  โดยหมูเป็นหน้าฟาร์ม อยู่ที่กิโลกรัมละ 69.70 บาท และราคาหมูเนื้อแดง สัปดาห์นี้ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 130-131 บาท แม้ราคาจะดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เฉลี่ยกว่ากิโลกรัมละ 150 บาท และเป็นราคาที่ยังไม่คุ้มทุนของผู้เลี้ยง เนื่องจากยังมีปริมาณผลผลิตส่วนเกินอยู่ถึง 8,000-10,000 ตัวต่อวัน ซึ่งกรมการค้าภายใน ได้เชื่อมโยงผลผลิตจากผู้เลี้ยง เพื่อช่วยเกษตรกรระบายสินค้า ผ่านงานธงฟ้าที่จัดทั่วประเทศ และผ่านรถโมบายธงฟ้า ดำเนินมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ และจะทำจนกว่าจะสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 


ส่วนไข่ไก่ ผลผลิตภาพรวมไม่ได้ลดลง แต่ไข่ใบเล็กลง สัดส่วนเบอร์ 3 ถึงเบอร์ 5 มีถึง 50% จากปกติจะอยู่ที่ 30%  ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับผู้เลี้ยง เพื่อช่วยระบายไข่ไก่เบอร์เล็ก รวมถึงพี่น้องประชาชน ได้มีทางเลือกในการซื้อไข่ไก่ในราคาถูกกว่าท้องตลาด 


ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้เชิญผู้เลี้ยง มาหารือแนวทางช่วยเหลือให้เกษตรกรอยู่รอด ซึ่งกรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือให้ตรงราคาหมู และไข่ไก่ ไว้ในระดับปัจจุบันไปสักระยะ  ซึ่งทางผู้เลี้ยงเอง ได้ขอให้ช่วยสนับสนุนเรื่องต้นทุน ที่ต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง 


นายสัตวแพทย์ เกียรติภูมิ พฤกษะวัน เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่าสถานการณ์จริงของผู้เลี้ยงหมู ราคาเฉลี่ยที่ขายได้ในเดือนมีนาคม 2567 เฉลี่ยเพียงกิโลกรัมละ 58.75 บาท แต่ต้นทุนมาตรฐาน 71.95 บาท สำหรับผู้ซื้อสุกรเข้าเลี้ยง และ 79.05 บาท สำหรับผู้เลี้ยงครบวงจร และในเดือนเมษายน มีสัญญาณดีขึ้น ขายได้เฉลี่ย 66 บาท และราคาวันนี้ 68-69 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาประกาศแนะนำ 72 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าราคาขายจริง ไม่ได้ตามที่ประกาศ 


ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยเพราะที่ผ่านมาขาดทุนต่อเนื่อง มีช่วงต่ำสุด ขายหมูหน้าฟาร์มได้55 บาท แต่ต้นทุนสูงถึงกิโลกรัมละ 75-76 บาท ขาดทุนถึงตัวละ 2,000 บาท ในแต่ละเดือนขายหมูกว่า 1 ล้านตัน ทำให้วงการขายหมูมีการขาดทุน เดือนละ 2,000 กว่าล้านบาท  สะสมสูงถึงปีละ 20,000 – 30,000 ล้านบาท โดยเฉพาะเกษตรรายย่อย จะยิ่งขาดทุนสูง จึงอยากให้กรมการค้าภายใน เข้ามาดูแลให้สถานการณ์ให้ผู้เลี้ยงหมูอยู่รอด สามารถเลี้ยงหมู ป้อนคนในประเทศต่อไป 


นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่กล่าวว่าสถานการณ์ของผู้เลี้ยงไก่ ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงนี้อากาศร้อนจัด ทำให้ไข่ไก่เบอร์เล็กลง แต่มีการพูดกันถึงราคาเฉพาะไข่เบอร์ใหญ่ ทำให้เข้าใจว่าไข่ราคาแพง จึงอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจผู้เลี้ยงบ้าง แม้ราคาไข่ไก่ จะปรับขึ้นมาบ้าง เฉลี่ยทั้งปี แต่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับความเสี่ยง จะได้กำไรเพียง 4-5 เดือนนอกนั้นเสมอตัวและขาดทุน ทำให้ผู้เลี้ยง ล้มหายไปเยอะ จากกว่า 1 แสนราย เหลือไม่ถึง 10,000 ราย เหลือเฉพาะรายใหญ่เป็นส่วนมาก


ก้านนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า กลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยต้องแบกรับภาระการขาดทุนต่อเนื่องมายาวนาน จนหลายรายต้องเลิกเลี้ยงไป การปรับเพิ่มราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มให้เข้าใกล้ต้นทุนการผลิตจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงรายย่อยได้


ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรยังประสบปัญหาสุกรโตช้าเนื่องจากอากาศร้อนทำให้ไม่ค่อยกินอาหาร ประกอบกับบางพื้นที่แห้งแล้งจนต้องซื้อน้ำมาใช้ในฟาร์ม โดยราคาประมาณคันรถละ ดังนั้น 1,000 – 2,000 บาทขึ้นอยู่กับระยะทางจึงขอให้ผู้บริโภคเข้าใจและไม่ต้องเป็นกังวลว่า จะมีการปรับแบบไม่เป็นธรรม โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลราคาและระบบการค้าให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับผู้บริโภคและผู้ค้า ขณะเดียวกันต้องดูแลเกษตรกรให้ได้รับราคาที่เหมาะสมด้วย หากภาคการผลิตอยู่ในภาวะที่ขาดทุนต่อเนื่องและถูกกดราคา ผู้เลี้ยงไม่สามารถอยู่ได้จะส่งกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานสร้างสมดุลราคาและจะทำให้คนไทยมีเนื้อหมูบริโภคโดยไม่ขาดแคลนในราคาสมเหตุสมผล


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล