ครอบครัวใหญ่ขึ้นอีก! เมื่อพี่ใหญ่แห่งระบบสุริยะจักรวาลอย่าง “ดาวพฤหัสบดี” มีดวงจันทร์บริวารเพิ่มอีก 12 ดวง จากเดิม 80 ดวง ตอนนี้ 92 ดวงแล้ว แซงหน้าดาวเสาร์ที่มีดวงจันทร์บริวาร 83 ดวง ทวงบัลลังก์ดาวเคราะห์ที่มีจำนวนดวงจันทร์เยอะที่สุดในระบบสุริยะอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา “Minor Planet Center” ได้เผยแพร่ข้อมูลการค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีจำนวน เพิ่มอีก 12 ดวง ทำให้ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารรวมทั้งสิ้น 92 ดวง แซงหน้าดาวเสาร์ที่มีดวงจันทร์บริวาร 83 ดวง กลับมาทวงตำแหน่ง “ดาวเคราะห์ที่มีจำนวนดวงจันทร์เยอะที่สุดในระบบสุริยะ” คืนมาอีกครั้ง
ภาพจาก : https://skyandtelescope.org
“ดาวพฤหัสบดี (Jupiter)” เป็นดาวเคราะห์แก๊สที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล โดยอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 5 มีดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุด ที่ ‘กาลิเลโอ กาลิเลอี’ นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ค้นพบเป็นจำนวน 4 ดวง เมื่อปี ค.ศ. 1610 เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ (Galilean Moons) และเมื่อเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์พัฒนามากขึ้น กล้องโทรทรรศน์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบดวงจันทร์ที่อยู่รอบ ๆ ดาวพฤหัสบดีอีกมากมาย
สำหรับการค้นพบดวงจันทร์เพิ่มเติม 12 ดวงในครั้งนี้นำทีมโดย Scott Sheppard นักดาราศาสตร์จาก Carnegie Institute for Science สหรัฐอเมริกา หนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะได้เยอะที่สุด และดวงจันทร์จำนวน 9 ดวงจาก 12 ดวงที่ค้นพบในครั้งนี้ อยู่ในวงโคจรบริเวณไกลสุดของกลุ่มดวงจันทร์ทั้งหมด มีคาบการโคจรรอบดาวพฤหัสบดีมากกว่า 550 วัน มีทิศทางการโคจรแบบ Retrograde ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี และตรงข้ามกับดวงจันทร์กลุ่มหลักอีกด้วย
ภาพจาก : https://skyandtelescope.org
ขณะที่ดวงจันทร์อีก 3 ดวงที่ค้นพบเพิ่มในครั้งนี้ อยู่ในวงโคจรถัดไปจากกลุ่มดวงจันทร์ของกาลิเลโอเล็กน้อย มีทิศทางการโคจรแบบ Prograde หรือทิศทางเดียวกันกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี คาดว่าจะก่อตัวขึ้นมาพร้อม ๆ กันทั้งหมด และเป็นกลุ่มที่ค้นพบได้ยากกว่า เนื่องจากมีวงโคจรที่ใกล้กับดาวพฤหัสบดี แสงสว่างจากดาวพฤหัสบดีจะบดบังแสงของวัตถุขนาดเล็กเหล่านี้ ทำให้ดาวบริวารขนาดเล็กส่วนใหญ่จะพบที่ระยะห่างไกล
นักดาราศาสตร์คาดว่ากลุ่มดวงจันทร์เหล่านี้ อาจเกิดจากวัตถุขนาดเล็กในอวกาศ ที่ถูกแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของดาวพฤหัสบดีดึงดูดเอาไว้ให้กลายเป็นดาวบริวาร ส่วนใหญ่เป็นวัตถุขนาดความกว้างไม่เกิน 8 กิโลเมตร
ขอขอบคุณ
- ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
- ภาพจาก https://skyandtelescope.org