X
ดาวอสนั้นสำคัญไฉน ? นายกฯ ยังต้องไป รู้จักการประชุมที่สามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกได้

ดาวอสนั้นสำคัญไฉน ? นายกฯ ยังต้องไป รู้จักการประชุมที่สามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกได้

18 ม.ค. 2567
680 views
ขนาดตัวอักษร

18 ม.ค. 67 - ดาวอสนั้นสำคัญไฉน ? รู้จักการประชุมที่ผู้นำโลก และมหาเศรษฐีของโลกเข้าประชุมพร้อมกัน สามารถสร้างโอกาสให้ไทยได้อย่างไร ถึงขนาดนายกฯ ต้องไปเอง 



การประชุมที่ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีชื่อว่า การประชุม World Economic Forum (WEF) เป็นการประชุมทุกปี โดยการประชุมทุกครั้งจัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ชื่อเดียวกับการประชุม สำหรับ World Economic Forum ก่อตั้งองค์กรขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 โดย ศาสตราจารย์เคลาส์ ชวาบ (Prof.Klaus Schwab) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวสวิส-เยอรมัน



โดยวัตถุประสงค์ของ WEF คือ การส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกเพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลกที่สำคัญ โดย WEF เชื่อว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาระดับโลก



 การประชุมประจำปีของ WEF จัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยการประชุมประจำปีเป็นเวทีให้ผู้นำจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันหารือและหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของโลก โดยการประชุมที่ดาวอส เคยเป็นเวทีที่คู่ขัดแย้งมาเจรจากัน เช่นกรณีของยัตเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat)  ผู้นำปาเลสไตน์ กับ ชิมอนต์ เปเรส (Shimon Peres) ประธานาธิบดีอิสราเอล



รวมทั้งเป็นเวทีที่ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลกที่สำคัญ เช่น โครงการ Climate Action Platform เกี่ยวกับสภาพอากาศ โครงการ Global Gender Gap Report ลดช่องว่างระหว่างเพศสนับสนุนการจ้างงานอย่างเท่าเทียมและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานในศตวรรษที่ 21 และโครงการ Global Competitiveness Report ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ที่เป็นการตั้งโจทย์การแข่งขันให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก

ณ ปัจจุบันเป้าหมายของ WEF คือ 1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ WEF ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2583 2.หยุดยั้งความไม่เท่าเทียมกัน WEF ตั้งเป้าหมายที่จะบรรเทาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศและเศรษฐกิจภายในปี พ.ศ. 2573 3. ยุติความขัดแย้ง WEF ตั้งเป้าหมายที่จะยุติความขัดแย้งทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2573

โดยที่ประชุม WEF เชื่อว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาระดับโลก องค์กรฯ จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างเวทีให้ผู้นำจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันหารือและหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของโลกร่วมกัน 

แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่า WEF เป็นสมาคมเฉพาะของชนชั้นนำโลก ที่แคบและจำกัด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา เสียงของศาสตราจารย์ชวาบและคณะผู้เชี่ยวชาญของ WEF มีส่วนในการกำหนดข้อถกเถียง วิธีคิด และวาระทางเศรษฐกิจของโลกอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีทำความเข้าใจโลกของคนกลุ่มนี้จึงมีความแหลมคมและเต็มไปด้วยความน่าสนใจยิ่ง

นอกจากการพบกันของผู้นำโลกเสมือนการประชุมระดับพหุภาคีแล้ว WEF ยังคล้ายเป็นการประชุมกำหนดทิศทางทางเศรษฐกิจ แม้จะไม่ได้เป็นลักษณะที่เปลี่ยนโลกได้เหมือนการประชุม แบรตตัน วูด (Bretton Wood) เมื่อปี 1945 ที่เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสู่แนวทางของ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) แต่ก็เป็นการกำหนดรูปแบบเศรษฐกิจในช่วงนั้น ๆ 



นอกจากนั้นยังเป็นการพบกันของผู้นำประเทศและบริษัทชั้นนำทางเศรษฐกิจ เช่น  Standard Chartered ธนาคารชั้นนำระดับสากลและมีเครือข่ายทั่วโลก , Telenor บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำระดับโลก มีลูกค้าประมาณ 175 ล้านคนใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคนอร์ดิกและในเอเชีย  , Nestlé บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลก มีสินค้าจำหน่ายอยู่ใน 190 ประเทศทั่วโลก โดยมีโรงงานผลิต 344 โรงงานใน 77 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย , Coca Cola หนึ่งในบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเจ้าของหรือมีใบอนุญาตยี่ห้อเครื่องดื่มมากกว่า 200 แบรนด์ โดยก่อตั้งในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2492 และปัจจุบันมีโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 7 แห่งในประเทศไทย นอกนั้นยังมี IBM บริษัท IT ยักษ์ใหญ่ TATA Motor บริษัทรถยนต์อันดับ 1 ของอินเดีย Microsoft บริษัทอันดับ 1 ของโลก โดยบิล เกต มาร่วมประชุมด้วยตนเอง

การประชุม World Economic Forum 2024 ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม จึงจัดขึ้นในธีม “Rebuilding Trust” หรือ “การฟื้นคืนความไว้วางใจ” เพื่อให้เป็นพื้นที่สำคัญในการถอยกลับไปสู่พื้นฐานการเจรจาที่เปิดกว้าง ในโลกที่ความขัดแย้งมากมาย มุ่งเน้นไปที่หลักการพื้นฐานที่ขับเคลื่อนความไว้วางใจ ซึ่งรวมถึงความโปร่งใส ความสม่ำเสมอ และความรับผิดชอบ 

ภายใต้ธีมใหญ่ของงานปีนี้ มีการแบ่งธีมของเนื้อหาออกเป็น 4 ธีมหลัก ได้แก่ 1. บรรลุความมั่นคงและความร่วมมือในโลกที่แตกแยก 2. สร้างการเติบโตและสร้างงานสำหรับโลกยุคใหม่ 3.ปัญญาประดิษฐ์เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และ 4. ยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อสภาพภูมิอากาศ  ธรรมชาติ และพลังงาน 

โดยปีนี้มีบุคคลเข้าร่วมงานกว่า 300 คน รวมถึงประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาลมากกว่า 60 ท่าน เช่น หลี่ เฉียง (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีของจีน เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (Ursula Gertrud von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ฆาเวียร์ มีเล (Javier Milei) ประธานาธิบดีขวาจัดของอาร์เจนตินา โวโรดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ประธานาธิบดียูเครน และ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย 



โดยคาดว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน น่าจะมีภารกิจในการเผยแพร่ขีดความสามารถทางธุรกิจของไทยเพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนแลนด์บริจ (Landbridge) โดยแสดงให้เห็นศักยภาพการน่าลงทุนสำหรับการเชื่อมอาเซียนเข้าด้วยกันของโครงการนี้ นอกจากนั้นยังไปแสดงศักยภาพของไทยในเรื่องการลดโลกร้อน ซึ่งคาดว่าจะสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาได้เช่นกัน รวมทั้งการหารือกับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อกำหนดแผนทางเศรษฐกิจในอนาคตไทยอีกด้วย  



สำหรับเรื่องระดับโลกของการประชุมครั้งนี้ คงต้องจับตาไปที่บทบาทของ WEF กับประเทศมหาอำนาจในเรื่องความขัดแย้งทั่วโลก เพราะหนึ่งในคู่กรณีอย่างประธานาธิบดีเซเลนสกี้แห่งยูเครนนั้นมาประชุมด้วย รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หลี่ เฉียง ก็เข้าประชุมด้วย แผนรักษาสันติภาพของจีนกับเซเลนสกี้ก็อาจจะมีการตกลงกันก็เป็นได้ รวมทั้งแนวคิดของ ฆาเวียร์ มีเล แห่งอาร์เจนติน่า จะแสดงวิสัยทัศน์ (แปลก ๆ ) ทางเศรษฐกิจเช่นไร ก็เป็นที่น่าสนใจเช่นกัน


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)