X
“กะละแม” ขนมยอดนิยมวันปีใหม่ของคนไทยสมัยโบราณ

“กะละแม” ขนมยอดนิยมวันปีใหม่ของคนไทยสมัยโบราณ

29 ม.ค. 2564
1060 views
ขนาดตัวอักษร


“กะละแม” หลายคนคงจะเคยรับประทานขนมหวานแสนอร่อยชนิดนี้กันมาบ้างแล้ว แต่รู้ไหมคะว่าสมัยก่อนกะละแมเป็นขนมที่นิยมทำกันเป็นอย่างมากในช่วงวันขึ้นปีใหม่ของคนไทย วันนี้แอดขอพาทุกคนไปรู้จักกับประวัติของขนมชนิดนี้กันค่ะ


“กะละแม” มีลักษณะเป็นแป้งเหนียวสีดำ เป็นขนมหนึ่งในสามชนิดที่นิยมทำขึ้นในวันปีใหม่ของคนไทยในสมัยก่อน ที่ต้องทำให้เสร็จก่อนวันสงกรานต์ คือ ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง และกะละแม ยังไม่ทราบว่ามีที่มาจากขนมหวานของชาติใด แต่ องค์ บรรจุน ก็เชื่อมอญเป็นผู้คิดค้น โดยได้อธิบายไว้ว่าก่อนวันสงกรานต์ 1 วัน ครอบครัวขององค์ บรรจุน จะนัดกันมากวนกะละแม มีส่วนผสม 3 อย่าง คือ ข้าวเหนียว กะทิ และน้ำตาลปี๊ป ใช้กระทะเหล็กใบบัวขนาดใหญ่สำหรับกวนกะละแมโดยเฉพาะ ที่ใช้แบบนี้เพราะกระทะเคี่ยวน้ำตาลทั่วไปมีเนื้อบาง กระทะอาจทะลุได้


องค์ บรรจุน มองว่า กะละแมที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้ เป็นขนมที่มอญคิดขึ้น สังเกตได้ว่ายังคงเหลือความสัมพันธ์ระหว่างกะละแมของมอญในไทย กับขนม “เกร่อะฮ์เปรียง” หรือ “กวาญย์ฮะกอ” จากนั้นก็เริ่มดัดแปลงปรับปรุงจนหน้าตาและรสกลายเป็น “กะละแม” ในปัจจุบัน ส่วนที่บางท่าบอกว่ามาจากโปรตุเกสนั้น เมื่อลองสอบถามผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมโปรตุเกสกลับพบว่า ไม่มีชนิดใดที่ใช้ข้าวเหนียวและกะทิเป็นส่วนผสม แม้แต่วิธีการทำที่คล้ายกะละแมก็ไม่มี หรือในด้านของรากศัพท์ที่มีผู้สันนิษฐานว่า กะละแม มาจากคาราเมล (caramel) องค์ บรรจุน มองว่า คาราเมลของฝรั่งคือน้ำตาลและเนยกวนจนเกือบไหม้ ลักษณะเป็นตังเมเอาไว้อม หากบอกว่า ตังเม เพี้ยนจากคาราเมล จะฟังขึ้นกว่า


ในด้านของคำศัพท์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของ “กะละแม” เอาไว้ว่า เป็นชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียว กะทิ และนํ้าตาลโตนดหรือน้ำตาลมะพร้าว กวนจนเหนียวเป็นสีดำ. สามารถเทียบได้กับภาษาอังกฤษคำว่า caramel และเทียบกับภาษาโปรตุเกสได้กับคำว่า caramelo


ขนมกะละแมในไทยปัจจุบันแบ่งได้ 2 ชนิด คือ กะละแมเม็ด แบบดั้งเดิม เป็นกะละแมสีเข้ม อาจมีลักษณะเป็นจุด ๆ แทรกอยู่ และ “กะละแมแป้ง” ที่ใส่แป้งข้าวเหนียวแทนเม็ดข้าวเหนียว ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกะละแมแป้งเพราะทำง่ายกว่า


อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะยังหาที่มาของขนมกะละแม่อย่างแน่ชัดไม่ได้ว่าไทยรับมาจากประเทศอะไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่าขนมกะละแมกวนในปัจจุบันที่เราได้ลิ้มรสนั้นอร่อยจริง ๆ ค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุคส์พับลิเคชั่นส์.
  • สืบที่มาของขนมกะละแม กับร่องรอย “กะละแมสงกรานต์” แบบมอญ ชื่อ “กวาญย์ฮะกอ”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2564. จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_47215
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)