X

รำลึก 52 ปีแห่งการสูญเสีย “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกตลอดกาล (ชมคลิปฉากสุดท้ายในชีวิตของมิตร)

8 ต.ค. 2565
3860 views
ขนาดตัวอักษร

ย้อนรอยโศกนาฎกรรม ฉากในภาพยนตร์สุดเศร้าที่ไม่สามารถถ่ายทำได้อีกครั้ง เมื่อพระเอกของเรื่อง “มิตร ชัยบรรชา” ประสบอุบัติเหตุตกเฮลิคอปเตอร์ขณะถ่ายทำภาพยนตร์ “อินทรีทอง” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513

นับได้ว่าเป็นเวลากว่า 52 ปีแล้ว ที่เราได้สูญเสียพระเอกชื่อดัง “มิตร ชัยบรรชา” พระเอกดาราทองยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศไทย ผู้เป็นที่รักของมหาชนทั่วประเทศในขณะถ่ายทำฉากโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ จากภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง”


“มิตร ชัยบรรชา” มีชื่อจริงว่า พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ ชัยบัญชา (นามสกุลเดิม พุ่มเหม) เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2477 ที่อำเภอท่ายาง หมู่บ้านไสค้าน จังหวัดเพชรบุรี 

มิตรเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงปลาย พ.ศ. 2499 โดยภาพยนตร์เรื่อง “ชาติเสือ” บทประพันธ์ของ เศก ดุสิต กำกับโดย ประทีป โกมลภิส เป็นเรื่องแรกที่มิตรได้ประกบกับนางเอกที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นถึง 6 คน เช่น เรวดี ศิริวิไล นัยนา ถนอมทรัพย์ ประภาศรี สาธรกิจ และ น้ำเงิน บุญหนัก เป็นภาพยนตร์ที่เริ่มถ่ายทำในปลาย พ.ศ. 2500 และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2501 ภาพยนตร์ทำรายได้กว่าแปดแสนบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากของสมัยนั้น ทำให้ชื่อของ มิตร ชัยบัญชา เป็นที่รู้จักของประชาชน


มิตรเป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2500–2513 และมีผลงานเด่นในช่วง พ.ศ. 2501–2517 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. เขามีผลงานที่นับได้ขณะนั้น 266 เรื่อง จากทั้งสิ้น 300 กว่าเรื่อง


เมื่อ พ.ศ. 2513 มิตรมีโครงการภาพยนตร์ ที่แสดงนำและกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก ในเรื่อง “อินทรีทอง” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชุด “อินทรีแดง” เรื่องที่ 6 ที่มิตรแสดงในบท โรม ฤทธิไกรหรือ อินทรีแดง ที่ต้องออกสืบหาอินทรีแดงตัวปลอม รับบทโดยครรชิต ขวัญประชา แสดงร่วมกับ เพชรา เชาวราษฎร์ รับบทวาสนา


ฉากสุดท้ายของเรื่องได้ถ่ายทำที่หาดดงตาล พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี เมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 9.00 น. บทในเรื่องเป็นเหตุการณ์หลังจากอินทรีแดงปราบผู้ร้ายได้แล้ว จะหนีตำรวจออกจากรังของคนร้าย โดยโหนบันไดเชือกจากเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีวาสนาเป็นผู้ขับ กล้องจะเก็บภาพเฮลิคอปเตอร์พาอินทรีแดงบินลับหายไป


เพื่อความสมจริงและความไม่พร้อมของเสื้อผ้าของนักแสดงแทน มิตรตกลงว่าจะแสดงฉากนี้ด้วยตัวเอง โดยกำหนดการถ่ายทำไว้อย่างละเอียด แต่ขณะแสดงด้วยแรงกระตุกของเครื่องขณะบินขึ้น มิตรไม่ได้เหยียบบนบันไดและต้องโหนตัวอยู่ อีกทั้งเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ลงจอดเมื่อผ่านหน้ากล้องตามที่ตกลงกันไว้ มิตรพยายามให้สัญญาณด้วยการตบเท้าเข้าหากัน แต่นักบินมองไม่เห็นความผิดปกติและการให้สัญญาณจากพื้นล่าง ยังบินสูงขึ้นต่อไป และเกิดแรงเหวี่ยงในจังหวะที่เครื่องเลี้ยวกลับ มิตรได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการใช้ข้อมือซ้ายเกี่ยวพันกับบันไดลิง แต่ก็โดนเชือกบากข้อมือจนเกือบขาด เมื่อมิตรทนความเจ็บไม่ไหว จึงตัดสินใจแกะเชือกที่รัดข้อมือแล้วปล่อยตัวลงมา มิตรตั้งใจว่าจะปล่อยตัวลงสู่บึงข้างล่างจะได้รอดชีวิต แต่ลมก็ตีร่างของมิตร ตกลงมากระแทกกับพื้น ตรงจอมปลวก จากความสูง 300 ฟุต


มิตรถูกนำส่งโรงพยาบาลศรีราชาด้วยเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวภายใน 5 นาที แต่ทุกอย่างก็สายเกินไป จากผลการชันสูตรศพยืนยันว่า เขาเสียชีวิตทันทีเพราะร่างกายแหลกเหลว เชือกบาดข้อมือเป็นแผลลึก 2 ซม. ยาว 8 ซม. กระดูกขากรรไกรข้างขวาหัก กระดูกโหนกแก้มซ้ายขวาหัก มีเลือดออกทางหูขวา กระดูกซี่โครงขวาหัก 5 ซี่ กระดูกโคนขาขวาหัก กระดูกต้นคอหัก โดยเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 16.13 น.


ศพของมิตร ชัยบัญชา ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้ง หลังจากครบ 100 วัน พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดเมื่อ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 มีประชาชนหลั่งไหลเข้าไปร่วมงานจำนวนมาก สำหรับการพระราชทานเพลิงศพย้ายจากวัดแคไปวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร มีประชาชนหลั่งไหลไปร่วมงานกว่า 3 แสนคน จนกระทั่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่าเป็นงานศพของสามัญชนที่มีผู้ไปร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์


ฉากสุดท้ายในชีวิต

ภาพยนตร์เชิงข่าวบันทึกภาพเหตุการณ์งานศพของ มิตร ชัยบัญชา


Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)