18 สิงหาคม 2411 เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง โดยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี แล้วก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงตามที่พระองค์ทรงคำนวณขึ้นจริงโดยไม่คลาดเคลื่อน และเนื่องในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ Backbone MCOT จึงขอพาทุกท่านย้อนอดีต เล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นกัน
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับที่นั่ง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณเอาไว้ว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคานี้จะเกิดขึ้นในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 (ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม 2411) โดยจะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนและเต็มดวงที่สุด ที่หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณ เกาะจาน ขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงเมืองชุมพร
เมื่อใกล้เวลาที่ทรงคำนวณไว้ พระบทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ว่าจะทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง เพื่อพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ที่ทรงคำนวณล่วงหน้าเอาไว้ 2 ปี ดังนั้น วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2411 พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจากท่านิเวศวรดิษฐ์ไปยังบ้านหว้ากอ พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา กับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชบริพารจำนวนมาก
พระองค์โปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ พร้อมกับเชิญคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์
เมื่อถึงวันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2411 ตามเวลาที่พระองค์คำนวณไว้ คือ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 ก็ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงขึ้น ตรงกับที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว!
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะดูสุริยุปราคา ทรงประทับอยู่กลางศาลา ณ ที่ประจวบคีรีขันธ์
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์ ทางคณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”
ขอบคุณข้อมูลจาก : อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ
ขอบคุณภาพจาก : วิกิพีเดีย