17 ม.ค.66 - มาระนอง อย่าลืมชิมกาหยู แล้วกาหยู คืออะไร กลายเป็นของดีของเด็ดจังหวัดระนองได้อย่างไร
หากเข้ามาถึงจังหวัดระนองแล้ว อาจจะต้องแปลกใจกับคำแปลกๆ ไม่คุ้นตาสำหรับนักท่องเที่ยว นั่นคือ “กาหยู” แต่แล้วคำถามที่ชวนสงสัยก็คลี่คลายลง
•
เพราะ “กาหยู” คืออาหารที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี นั้นก็คือ “มะม่วงหิมพานต์” นั้นเอง ซึ่งคำว่า “กาหยู” คือภาษาถิ่นที่ชาวระนองใช้เรียก มะม่วงหิมพานต์
เช่นเดียวกับที่อีกหลายจังหวัดของทางภาคใต้ที่มีคำเรียกต่างกันไป อย่างเช่น นครศรีธรรมราช เรียก มะม่วงเล็ดลอด หรือ เล็ดล่อ , พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี เรียก เม็ดหัวครก , ภูเก็ต เรียก ลูกย่าโห้ย , พังงาเรียก กาหยี เป็นต้น
•
“กาหยู” หรือ มะม่วงหิมพานต์ ของจังหวัดระนอง มีความต่างจากที่อื่นในเรื่องของสายพันธุ์ และนิยมปลูกมากเกือบทั่วทั้งจังหวัด ทำให้กาหยูที่นี่เองมีรสชาติเฉพาะ “หวาน กรอบอร่อย” และขนาดเมล็ดที่ได้อวบโต กินเต็มคำ
•
ที่ระนอง “กาหยู” เป็นพืชเศรษฐกิจ เพาะปลูกได้ทุกที่ในจังหวัดระนอง โดยปลูกมากที่เกาะพยามและเกาะช้าง อำเภอเมืองระนอง สายพันธุ์ที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองซึ่งนิยมปลูกกันมากคือ สายพันธุ์เกาะพยาม
กาหยู นิยมนำมาคั่ว และกะเทาะเปลือกออกเหลือเพียงเมล็ดภายใน ยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่นแกงไตปลา น้ำพริกผัดพริกกาหยูหรือมะม่วงหิมพานต์ เพิ่มความอร่อยให้กับอาหารแต่ละเมนูได้อย่างดีเยี่ยม ปัจจุบันร้านของฝากเจ้าดังของระนอง “ร้าน ก.ไก่” ได้พัฒนานำกาหยูมาเป็นอาหาร และขนมของฝากอีกหลากหลาย เช่น ขนมไข่กรอบผสมกาหยู บัตเตอร์จากกาหยู หรือไอศกรีมกาหยู ก็อร่อยซะด้วย
ตามประวัติแล้ว ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2444 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นผู้นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์จากประเทศมาเลเซียมาปลูกที่จังหวัดระนองเป็นครั้งแรก เป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง ต้องการสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งและไม่ค่อยมีฝนตกในช่วงออกดอก เพราะจะทำให้ติดผลน้อย ไม่ชอบอากาศเย็น ปลูกง่ายเจริญเติบโตเร็ว ดูแลรักษาง่าย ขึ้นได้ในดินแดนแทบทุกชนิด และเป็นต้นกำเนิดของกาหยู มะม่วงหิมพานต์ ของขึ้นชื่อของระนองมาจนถึงปัจจุบันนั้นเอง
•
•
ขอบคุณภาพจาก ร้าน ก.ไก่ ของฝากระนอง