X
ชวนดู “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ร่องรอยของ “ดาวหางฮัลเลย์”

ชวนดู “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ร่องรอยของ “ดาวหางฮัลเลย์”

19 ต.ค. 2566
3080 views
ขนาดตัวอักษร

ขออยู่ในชีวิตที่เหลือของเธอได้ไหม? ... มารอดู “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” ร่องรอยของ “ดาวหางฮัลเลย์” กัน เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 21 ตุลาคม เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 22 ตุลาคม บริเวณกลุ่มดาวนายพราน (Orion) อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง หากฟ้าใสไร้ฝน ลุ้นชมความสวยงามได้ทั่วประเทศ


“ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจร ขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์


เมื่อปี พ.ศ. 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกจึงดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุดังกล่าวเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า


ในปี 2566 นี้ เมื่อดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันที่ 21 ตุลาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 22 ตุลาคม เมื่อท้องฟ้าไร้แสงจากดวงจันทร์มารบกวนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป เราจะได้พบกับ “ฝนดาวตกโอไรออนิดส์” อีกครั้ง แม้ว่าฝนดาวตกโอไรออนิดส์จะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยเพียงประมาณ 20 ดวง/ชั่วโมง แต่ก็เป็นฝนดาวตกที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่สังเกตได้ง่าย และมีดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นอีกหลายดวง


ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน ของทุกปี ทำให้เราสามารถรอชมความสวยงามได้ทุกปี แต่เจ้า “ดาวหางฮัลเลย์” ต้นกำเนิดของฝนดาวตกนี้นั้น จากข้อมูลการศึกษาทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักดาราศาสตร์พบว่า ดาวหางฮัลเลย์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 กิโลเมตร มีคาบการโคจรเฉลี่ย 76 ปี มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ซึ่งแต่ละรอบจะมีคาบการโคจรไม่เท่ากัน ดังนั้น เราจะได้พบกับเจ้าดาวหางฮัลเลย์อีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2604 หรือจะได้พบกันอีกครั้งในอีก 38 ปีข้างหน้า โดยดาวหางฮัลเลย์โคจรเข้ามาเฉียดดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อปีเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย “สักวันหนึ่งเราอาจจะไม่ได้เห็นดาวหางฮัลเลย์แสนสวยอีกแล้ว”

ทุก ๆ ครั้งที่ดาวหางฮัลเลย์เคลื่อนที่เข้ามาให้เราได้ยลโฉมความสวยงามในทุก ๆ 76 ปีนั้น รังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้ดาวหางสูญเสียมวลของตัวเองไปเรื่อย ๆ และมีขนาดเล็กลง 1-3 เมตรในแต่ละรอบ จนในที่สุดเมื่อมวลสารส่วนที่เป็นน้ำแข็งสลายตัวจนหมดไป ดาวหางฮัลเลย์ก็จะไม่ได้มีหางที่สวยงามเหมือนที่เราเคยเห็นในอดีต กลายเป็นเพียงก้อนหินมืดดำในอวกาศ หรืออาจแตกสลายกลายเป็นเศษฝุ่นที่ยังคงโคจรอยู่รอบ ๆ ดวงอาทิตย์ต่อไปเพียงเท่านั้น


ขอบคุณข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)