X
ดุเดือด! แข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ปี66

ดุเดือด! แข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ปี66

11 มิ.ย. 2566
4210 views
ขนาดตัวอักษร

การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2566 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทีมจากสถาบันการศึกษาในภาคเหนือมาแรง กวาดรางวัลชนะเลิศไปได้ 3 จาก 4 ประเภท


สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทยประจำปี 2566 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีระหว่างวันที่ 10 - 11 มิถุนายน 2566 ณ ห้องไดมอนด์ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายยศพล  เวณุโกเศศ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีการจัดการแข่งขันในครั้งนี้


สำหรับผลการแข่งขัน ปรากฎว่า ทีม REMI CMU : Mahout 1 จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชนะเลิศประเภทการแข่งขัน โปรยบุปผาบนนภาเหนือนครวัด , ทีม CRM6_1 จากโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย ชนะเลิศประเภทการแข่งขันประเภท Robo Rescue , ทีม YB ROBOT PB จากโรงเรียนโยธินบูรณะ ชนะเลิศประเภทการแข่งขันประเภท Robo Soccer และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ชนะเลิศประเภทการแข่งขันประเภท Therapist Robot หุ่นยนต์กายภาพบำบัด


ผศ. ประยูร เชี่ยววัฒนา นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวว่า ด้วยเจตนารมณ์อันแรงกลัาของ ส.ส.ท. ที่จะผลักดัน และส่งเสริมให้ยาวชนไทย ตื่นตัว หันมาให้ความสนใจเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนา สู่การเป็นเยาวชนไทยที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งฝึกฝนการทำงานเป็นทีม เรียนรู้กระบวนการทำงาน เป็นผู้คิดเป็น ทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น อันเป็นพื้นฐานของกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ความรู้และทักษะที่ได้จากการแข่งขัน ยังสามารถนำมาคิดต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม และวงการวิทยาศาสตร์ - เทคโนโลยีต่อไปได้ในอนาคต การแข่งขันหุ่นยนต์จึงช่วยเปิดโลกกว้างให้กับเด็กไทย ก้าวต่อไปสู่เวทีนานาชาติ จึงจัดการแข่งขันนี้ขึ้นเป็นปีที่ 30 การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ทีมผู้ชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้


การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย 2566 แบ่งเป็น เกมการแข่งขัน โปรยบุปผาบนนภาเหนือนครวัด, การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.-สพฐ. ยุวชน ชิงแชมป์ประเทศไทย 2566 เกมการแข่งขัน Robo Rescue และ เกมการแข่งขัน Robo Soccer, การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. PLC Compettion ประจำปี 2566 เกมการแข่งขัน Therapist Robot หุ่นยนต์กายภาพบำบัด เริ่มการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 10 - 11 มิถุนายน 2566 ณ ห้องไดมอนด์ ฮอลส์ ชั้น 5ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี โดยเปิดให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าชมใต้ ภายในงานผู้ชมจะได้พบการแข่งขันทั้ง 4 สนามการแข่งขัน ได้แก่


สนามที่ 1: การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย 2566 พบกับนิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาชิงชัยในครั้งนี้จำนวน 18 ทีม ภายใต้เกมการแข่งขันที่มีชื่อว่า "Casting Flowers over Angkor Wat - โปรยบุปผาบนนภาเหนือนครวัด" เพื่อค้นหาแชมป์ระดับอุดมศึกษา ในการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ "ABU Robocon 2023" ที่ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพในปีนี้นั่นเองโดยจุดเด่นของการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย 2566 ในปีนี้ คือ กติกาการแข่งขัน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก "นครวัด' ในประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นสถานที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ เป็นแหล่งรวมของวัดที่มีความสวยงาม ซึ่ง UNESCO ได้ยกย่องให้เป็นมรดกโลก ซึ่งในประเทศกัมพูชามีนิทานหลายเรื่องที่มีตัวละครเป็นสัตว์ กระต่ายจึงมักถูกใช้เป็นตัวแทนของปัญญา ในขณะที่ช้างมักถูกใช้เป็นตัวแทนของความแข็งแกร่งและความสุภาพรูปแบบการแข่งขันในปีนี้คือ "Casting Flowers over Angkor Wat - โปรยบุปผาบนนภาเหนือนครวัด" โดย ภารกิจเป็นการทำงานร่วมกันของหุ่นยนต์กระต่าย (Fabbt Robot) และหุ่นยนต์ช้าง (Elephant Robot) การแข่งขันคือ การแข่ง "โยนห่วง" โดยใช้ห่วงสีแดง และสีน้ำเงินซึ่งทำมาจากท่อยางที่ใช้แทนดอกไม้


สนามที่ 2.การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.-สพฐ. ยุวชน ประจำปี 2566

พบกับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ทั้ง 102 ทีม จากทีมที่สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 488 ทีม ทั่วประเทศ ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเพื่อมาชิงชัยเป็นแชมป์หนึ่งเดียวของประเทศ โดยแบ่งการแข่งขันเป็น 2 เกมการแข่งขัน คือ การแข่งขัน "Robo Rescue" เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อปฏิบัติภารกิจภายใต้สถานการณ์สมมติในการเข้าถึงผู้ประสบภัย โดยหุ่นยนต์จะต้องเคลื่อนที่ผ่านเส้นทางที่มีสิ่งกีดขวางและอุปสรรค เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย เมื่อพบต้องแจ้งตำแหน่งที่พบแก่หน่วยกู้ชีพและทำการส่งมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัย เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่จนกว่าการช่วยเหลือจะมาถึง


การแข่งขัน "Robo Soccer" เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ โดยทีมของผู้แข่งขันจะต้องออกแบบ สร้างหุ่นยนต์ และเขียนโปรแกรมให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่อย่างอิสระเพื่อแข่งขันกับทีมอื่น หุ่นยนต์จะต้องสามารถตรวจจับลูกบอลและทำคะแนน โดยการยิงลูกบอลเข้าประตู โดยประตูมีสีที่กำหนดไว้บนสนามแข่งขันที่จำลองคล้ายกับสนามฟุตบอลจริง เพื่อให้การแข่งขันประสบความสำเร็จ


สนามที่ 3 : การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. PLC Competition ประจำปี 2566

พบกับนิสิตนักศึกษา 16 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือก จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ด้วยการนำความรู้ด้าน PLC(Programmable Logic Controller) มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมกลไก นำไปสู่การประดิษฐ์หุ่นยนต์ให้สามารถเคลื่อนไหวตามเกมการแข่งขันที่กำหนด โดยปีนี้ได้กำหนดให้หุ่นยนต์ผู้แข่งขันมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหากล้ามเนื้อแขน - ขาอ่อนแรง โดยประดิษฐ์หุ่นยนต์กายภาพบำบัดช่วยผู้ป่วยทำกิจกรรมแบบเฉพาะเจาะจงและทำซ้ำอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมที่กำหนด และมีระยะเวลาที่จำกัดในการเตรียมสถานะหุ่นยนต์สำหรับแต่ละกิจกรรมให้หุ่นยนต์ทำงานใต้เองโดยอัตโนมัติ เชิญร่วมพิสูจน์ความแม่นยำกับการแข่งขันที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานเร้าใจ ในเกมการแข่งขัน "Therapist Robot หุ่นยนต์กายภาพบำบัด"


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)