มีข้อสงสัยในดีลรวมกิจการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นจำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เมื่อพบว่ามีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรวมกิจการใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 44/3 ที่กำหนดว่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิของแต่ละบริษัทจะโอนให้กันไม่ได้ ทำให้สงสัยว่าตกลงคลื่นความถี่ของทั้งสองบริษัทเอามารวมกันได้ไหม ถ้าใบอนุญาตที่ทรู และดีแทค ถืออยู่ถูกห้ามไม่ให้รวมกัน
สืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้มุมมองว่า กฎหมายอาจจะยังรวมคลื่นความถี่ไม่ได้ แต่ในทางเทคนิค การใช้คลื่นร่วมกันเกิดขึ้นได้ โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถจับสัญญาณของผู้ให้บริการรายอื่นได้ถ้ามีข้อตกลงอนุญาตให้ใช้ได้ มีเคสของบริษัทเอไอเอส กับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ที่มีข้อตกลงในการใช้คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งสองบริษัทไม่ได้ควบรวมกันได้ ในทางเทคนิคเอไอเอสจึงมีคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ 1 ผืน ขนาด15 เมกะเฮิรตซ์ รวมกับอีก 1 ผืนของ NT จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ รวมกันแล้วเอไอเอสมีคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ที่ 30 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้นถึงแม้ดีแทคกับทรูไม่ได้รวมกิจการกันแต่ถ้าทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงให้ใช้คลื่นร่วมกันได้ ก็ใช้คลื่นได้ธรรมชาติของโทรศัพท์มือถือออกแบบมาให้สามารถสลับใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้
และหากอ่านกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ให้ดี มาตรา 44/3 ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. และเสียค่าธรรมเนียมการโอน .. กฎหมายไม่ได้บอกว่าห้ามโอนเด็ดขาด กฎหมายให้กสทช.อนุญาตได้ และเสียค่าธรรมเนียม การรวมคลื่นไม่ได้ปิดประตูตาย เวลานี้ ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. แต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคต จะไม่อนุญาต และหากไปอ่าน ประกาศกสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม ก็ไม่มีที่บอกไว้ว่าห้ามเด็ดขาดไม่ให้รวมใบอนุญาต
ในเชิงแท็กติกตอนนี้การรวมใบอนุญาตยังรวมกันไม่ได้ การควบรวมเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ ยังคงถูกจับตามอง และมีข้อกังวล แต่ในอนาคต เมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะเมื่อชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตครบแล้ว การรวมกิจกรรมไม่เกิดผลกระทบ การอนุญาตให้ โอน ใบอนุญาต อาจจะเกิดขึ้นได้ ถึงตอนนั้นคลื่นหรือใบอนุญาตก็ไปอยู่กับนิติบุคคลรายเดียว
ถ้ายังสงสัยอีกว่า ถ้าใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน กสทช. จะสามารถตรวจสอบเจอไหม ? คำตอบคือ ตรวจสอบได้ แต่ไม่ง่าย และถ้าต้องตรวจทุกวันคงสนุก เพราะจำนวนเครื่องลูกข่ายของทรู อยู่ที่ 30 ล้านเครื่อง ดีแทค 20 ล้านเครื่อง
“ มีโอเปอเรเตอร์รายหนึ่งโฆษณาในสื่อโซเชียล บอกว่าสิ่งที่ผู้ใช้บริการจะได้จากการควบรวมคือ แถบความถี่ในการให้บริการที่มากขึ้น สามารถใช้บริการ 5G ได้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งก็หมายถึง แบนด์วิธ ที่เพิ่มขึ้น แล้วแบนด์วิธจะมาจากที่ไหนได้ถ้าไม่ใช่คลื่นความถี่ “