X
เตือน..ยังไม่จบหน้าฝน มาลาเรีย ระบาดแล้ว 6,208 ราย พบเชื้อขึ้นสมอง 197 ราย

เตือน..ยังไม่จบหน้าฝน มาลาเรีย ระบาดแล้ว 6,208 ราย พบเชื้อขึ้นสมอง 197 ราย

21 ส.ค. 2565
860 views
ขนาดตัวอักษร

จากรายงาน กองโรคติดต่อนำโดยแมลง สิงหาคม 2565 นี้ พบผู้ป่วย โรคมาลาเรีย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา สูงถึง 2.9 เท่า จำนวนรวม 6,208 ราย ผู้ป่วยมากที่สุด จังหวัดตาก 3,688 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากสุด 25 - 44 ปี และ 3 กลุ่มผู้ป่วยหลัก คือ เกษตรกร, อาชีพรับจ้าง และเด็ก/นักเรียน ทั้งนี้ พบเชื้อมาลาเรียขึ้นสมองแล้ว 197 ราย กรมการแพทย์ มีข้อแนะนำ

กรมการแพทย์ แนะทำความรู้จัก “ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง”

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผย โรคมาลาเรีย เกิดจากการที่ยุงก้นปล่องเพศเมีย เป็นพาหะนำโรค หลังจากปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะพัฒนาทำให้เกิดเป็นโรคมาลาเรีย ทำให้มีไข้สูง ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ “ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง”



นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การติดเชื้อโรคมาลาเรีย ถือเป็นปัญหาสำคัญ ของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อาศัยแถบเส้นศูนย์สูตร แม้ว่า จะมีการรู้จัก และเข้าใจโรคมาลาเรียมากขึ้น แต่ปัจจุบัน ยังมีผู้เสียชีวิต ในระดับหลักล้านคนต่อปีทั่วโลก ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ของการติดเชื้อมาลาเรีย

โดยปกติ จะมีแค่เชื้อมาลาเรีย ชนิดฟัลซิปารัม ที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรียขึ้นสมอง โรคมาลาเรีย เกิดจากเชื้อ ที่เรียกว่า พาสโมเดียม ซึ่งในมนุษย์ มีเชื้อมาลาเรีย ที่ติดต่อได้ทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่

1. เชื้อมาลาเรีย พลาสโมเดียม ฟัลชิปารัม

2. เชื้อมาลาเรีย พลาสโมเดียม ไวแวกซ์

3. เชื้อมาลาเรีย พลาสโมเดียม มาลาเรอิ

4. เชื้อมาลาเรีย พลาสโมเดียม โอวาเล


และอาจพบเชื้ออีกชนิด ที่มาจากลิงสู่คน เรียกว่า เชื้อมาลาเรีย พลาสโมเดียม โนไซ ซึ่งในทั้งหมด เชื้อมาลาเรีย ชนิดฟัลซิปารัม เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงสุด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ในหลายระบบ จนถึงอาการทางสมอง และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้



นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะผ่านจากไปยังเซลล์ตับ และเข้าไปอาศัยในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดง มีรูปร่างผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดง ที่มีเชื้อมาลาเรีย ไปอุดกั้นระบบไหลเวียน

ขนาดเล็ก ทำให้สมองขาดเลือด ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ในบางรายมีลักษณะ ความดันในสมองเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น มีพฤติกรรมสับสน, ภาวะเพ้อ, เกิดอาการชัก ในกรณีนี้ แม้จะมีการอุดกั้นเกิดขึ้น แต่ลักษณะการอุดกั้น ไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่ จึงไม่ได้พบผู้ป่วย ที่มีลักษณะแขนขาอ่อนแรง เหมือนในผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบ อาการอย่างอื่น ที่สามารถพบได้ เช่น อาการปวดศีรษะ, ปวดกล้ามเนื้อตามตัว, คอแข็ง, บางรายอาจมีอาการกัดฟันค้าง, ไม่เปิดปาก หรืออาจมีอาการเกร็งของร่างกายผิดปกติ อาการอย่างอื่น ที่อาจตรวจเจอร่วม ได้แก่ ตับโต, ตัวเหลือง, ปอดมีน้ำคั่ง, ไตวาย, น้ำตาลในเลือดต่ำ, มีเลือดออก หรือ ความดันตก

ในการวินิจฉัยประวัติ คือ ส่วนสำคัญ การตรวจเจอเชื้อในเลือด โดยการดูผ่านสไลด์ จะเป็นวิธีที่ยืนยัน การวินิจฉัยได้ดีที่สุด ในผู้ป่วยมาลาเรีย อาจจะมีลักษณะอาการทางจิต เช่น หวาดระแวง, หลงผิด, บุคลิกภาพเปลี่ยน, เห็นภาพหลอน, ภาวะสับสน, ซึมเศร้า ภาวะดังกล่าว อาจไม่ได้เจอบ่อย มักจะเจอในช่วงที่ กำลังหายจากโรค หรือช่วงที่ขณะให้ยา รักษามาลาเรียบางชนิด เนื่องจากภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ถ้าได้รับการยืนยันการวินิจฉัย ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษา ที่รวดเร็ว เหมาะสม และคอยสังเกตภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเสียชีวิต ของผู้ป่วยได้



ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค และ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ กล่าวถึง สถานการณ์ โรคไข้มาลาเรีย ประเทศไทย ปี 2565 ประจำสัปดาห์ที่ 1 - 33 ระบุว่า

จากการเฝ้าระวังของ กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ วันที่ 1 มกราคม - 10 สิงหาคม 2565 รายงานผู้ป่วย โรคไข้มาลาเรีย 6,208 ราย

3 จังหวัดที่พบผู้ป่วย โรคไข้มาลาเรีย มากที่สุด ได้แก่

+ จังหวัดตาก 3,688 ราย
+ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 981 ราย
+ จังหวัดกาญจนบุรี 532 ราย

จำนวนผู้ป่วย ได้เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 สูงถึง 2.9 เท่า เป็นคนไทย 2,793 ราย (ร้อยละ 45.0) และต่างชาติ 3,145 ราย (ร้อยละ 55.0) สัดส่วนเพศชายต่อเพศหญิง
2 : 1



กลุ่มอายุของผู้ป่วย โรคไข้มาลาเรีย ที่พบมากที่สุด ได้แก่

+ อยู่ที่กลุ่มอายุ 25 - 44 ปี (ร้อยละ 27.8)
+ รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15 - 24 ปี (ร้อยละ 26.5)
+ กลุ่มอายุ  5 - 14 ปี (ร้อยละ 23.4)
+ กลุ่มอายุที่ มากกว่า หรือ เท่ากับ 45 ปี (ร้อยละ 16.8)
+ กลุ่มอายุที่ น้อยกว่า 5 ปี (ร้อยละ 5.5)


อาชีพที่พบผู้ป่วย โรคไข้มาลาเรีย ได้แก่

+ กลุ่มเกษตรกร (ร้อยละ 48.9)
+ อาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 24.2)
+ เด็ก/นักเรียน (ร้อยละ 23.9)

สำหรับเชื้อโรคไข้มาลาเรีย ชนิดเชื้อส่วนใหญ่ คือ

+ ร้อยละ 94.2 เชื้อ P.vivax 5,846 ราย
+ ร้อยละ 3.2 เชื้อ P.falciparum 197 ราย
+ ร้อยละ 2.6 และอื่นๆ 165 ราย


พบผู้เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มบ้านที่มีรายงาน ผู้ป่วยติดเชื้อ ในพื้นที่ปีปัจจุบัน (พื้นที่ A1) จำนวน 586 กลุ่มบ้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน
ของปี 2564 (411 กลุ่มบ้าน)



ข้อมูลรายงาน อีกว่า พบจำนวน 6 กลุ่มบ้าน เป็นแหล่งแพร่เชื้อใหม่ ณ สัปดาห์ที่ 33 ซึ่งได้แก่

1. กลุ่มบ้านแม่มิงค์ หมู่ที่ 11 ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

2. กลุ่มบ้านบอหมาก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

3. กลุ่มบ้านปางวัว หมู่ที่ 12 ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

4. กลุ่มบ้านปลายรมณีย์ หมู่ที่ 1 ตำบลรมณีย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา

5. กลุ่มบ้านแม่สามเพ็งเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

6. กลุ่มบ้านห้วยห้า หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเชื้อ P.vivax จะเป็นเชื้อชนิดรุนแรงน้อยกว่า P.falciparum แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้ นานหลายปี ทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรีย แบบเป็น ๆ หาย ๆ

โรคไข้มาลาเรีย หรือ มีชื่อเรียกได้อีกว่า ไข้จับสั่น, ไข้ป่า, ไข้ดง, ไข้ร้อนเย็น, ไข้ดอกสัก, ไข้ป้าง มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นยุงที่ออกหากินเวลากลางคืน ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อ มาจากการถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด แต่สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกในครรภ์, การถ่ายโลหิต เป็นต้น เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัด ผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุง ประมาณ 10 - 12 วัน เมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่น ก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรีย จากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรีย

อาการเริ่มแรก ของไข้มาลาเรีย จะเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่อง ที่มีเชื้อกัดประมาณ 10 - 14 วัน จะมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ และเบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้น จะมีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ เหงื่อออก อ่อนเพลีย และเหนื่อย หากประชาชนมีอาการดังกล่าว หลังมีประวัติเคยเข้าไปในป่า หรืออาศัยอยู่ในป่า ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน ก่อนเริ่มป่วย ให้รีบไปพบแพทย์ และให้ประวัติการเดินทางเข้าป่า หรือพักอาศัยในป่า



กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า เนื่องจากโรคไข้มาลาเรีย ไม่มีวัคซีน และไม่มียา เพื่อป้องกันการเกิดโรคโดยเฉพาะ ดังนั้น หากต้องเดินทางเข้าป่า หรือไปในพื้นที่เสี่ยง ควรป้องกันตนเอง ดังนี้

1. สวมใส่เสื้อผ้า ปกปิดแขนขาให้มิดชิด

2. ใช้ยาทากันยุง หรือจุดยากันยุง

3. นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืน ใช้มุ้งชุบน้ำยา คลุมเปล เมื่อไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ > (สถานการณ์ โรคไข้มาลาเรีย ประเทศไทย ปี 2565 ประจำสัปดาห์ที่ 1 - 33)


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : สถาบันประสาทวิทยา
https://www.facebook.com/PNI.Bangkok

เว็บไซต์ : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
https://ddc.moph.go.th/dvb



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)