รู้หรือไม่..?? แพทย์ ระบุ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ก.สาธารณสุข เตือนผลข้างเคียง เพราะเป็นยาอันตราย วันนี้ Backbone MCOT รวบรวมวิธีใช้ ปริมาณที่ใช้ และ ผู้ป่วยใด ?? ที่ควรได้รับยา มาบอกกัน
จากข้อมูลของเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์ ที่ได้โพสต์ข้อความถึง ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาหลักในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ว่า
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เผย ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ปัจจุบันเป็นยาหลัก ในการรักษา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามแนวทางการดูแลรักษาโควิด-19 โดยกรมการแพทย์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณไวรัสได้ดี ถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาชนิดนี้ ต้องได้รับการประเมินอาการ และจ่ายยาจากแพทย์ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
ยังไม่สามารถซื้อ จากร้านขายยาทั่วไป ดังนั้น เมื่อตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ควรโทร. 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษา
ส่วนผู้ที่ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ ก็ไม่ต้องใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์เช่นกัน เนื่องจากหายได้เอง ไม่ต้องได้รับผลข้างเคียงจากยา และไม่แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจร ร่วมกับ ยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากเพิ่มโอกาส ในการเป็นพิษต่อตับ
โดยอ้างอิงที่มาจาก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
นอกจากนี้ Backbone MCOT ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องของ ยาฟาวิพิราเวียร์ ในเรื่องของวิธีใช้ ปริมาณที่ใช้ และ ผู้ป่วยใด ?? ที่ควรได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ รวมถึงการออกฤทธิ์ ของยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งได้ข้อมูลจาก นิตยสาร วาไรตี้เพื่อสุขภาพ @ Rama ของเว็บไซต์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งระบุชื่อผู้เขียนไว้ว่า คือ เภสัชกรหญิงนันทพร เล็กพิทยา และ เภสัชกรภิฏฐา สุรพัฒน์ งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องเหล่านี้ว่า
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านไวรัส ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้ง การเพิ่มจำนวนของไวรัส SARS CoV2 ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19
ปัจจุบัน ยาฟาวิพิราเวียร์ ถือเป็นยาหลัก ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ตามแนวทางการดูแลรักษา COVID-19 โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
เนื่องจากยานี้ มีประสิทธิภาพ ในการลดปริมาณไวรัสได้ดี และจากการวิเคราะห์ ข้อมูลย้อนหลังของผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไทย พบว่า การรักษาด้วย ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยลดความเสี่ยงของ การเกิดภาวะรุนแรงของ COVID-19
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านเชื้อไวรัส ที่อยู่ในสูตรยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ของไทย โดยใช้ควบคู่ไปกับยาอื่น และได้ผลดี ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัส ที่ใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด
สำหรับในประเทศไทย ยาฟาวิพิราเวียร์ ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วย COVID-19 เป็นกรณีพิเศษ และจากการเก็บข้อมูลย้อนหลัง พบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีความปลอดภัย สามารถลดความรุนแรง และการสูญเสียจาก COVID-19 ได้ โดยองค์การเภสัชกรรม ได้ทำการวิจัย และพัฒนากระบวนการ สังเคราะห์วัตถุดิบ ฟาวิพิราเวียร์ ในระดับห้องปฏิบัติการได้เรียบร้อยแล้ว
ยาฟาวิพิราเวียร์ จะออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ
1. ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส และ
2. ทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ คือ เข้าไปยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase,RdRP ซึ่งเป็นเอนไซม์ ที่มีในไวรัสเท่านั้น เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นสาร Active Form = favipiravir-ribofuranosyl-5′-triphosphate (RTP) ให้ไวรัสกลายพันธุ์ จนภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์ สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อย จนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้อีก
ผู้ป่วยใด ?? ที่ควรได้รับยาฟาวิพิราเวียร์
แพทย์ จะพิจารณาเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ ในผู้ป่วย ที่มีภาวะปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วย ที่มีปัจจัยเสี่ยง ต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ดังนี้
+ โรคปอดเรื้อรัง
+ โรคตับ
+ ไตเรื้อรัง
+ โรคหัวใจและหลอดเลือด
+ โรคหลอดเลือดสมอง
+ เบาหวาน
+ ในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน
+ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
วิธีการรับประทาน ยาฟาวิพิราเวียร์ อยู่ในรูปแบบยาเม็ด ขนาดยาที่ใช้
+ สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และ ลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ
+ ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรก จะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และ ลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ
+ สำหรับผู้ป่วยเด็ก จะต้องมีการคำนวณ ขนาดยาตามน้ำหนักตัว ผู้ป่วยควรรับประทานยา ตามวัน และเวลา ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5 - 10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และการตอบสนองต่อการรักษา ของผู้ป่วยแต่ละราย อาการข้างเคียง ที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตับอักเสบ เป็นต้น
ด้าน ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดกระบี่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ จ่ายให้กับผู้ป่วย ที่มีภาวะเสี่ยง และอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเตือนผลข้างเคียง ยาฟาวิพิราเวียร์ ห้ามกินคู่ฟ้าทะลายโจร โดยระบุอ้างอิงที่มาจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
และจากภาพประชาสัมพันธ์ เรื่อง ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่จ่ายให้กับผู้ป่วย ที่มีความเสี่ยง และอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ กับผลข้างเคียงของยา มีรายละเอียด 4 เรื่อง ดังนี้
1. อาการคลื่นไส้ อาเจียน
2. อาจทำให้ทารกในครรภ์ มีความพิการ หากรับประทานยา ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
3. มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด ผิดปกติ เมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด
4. มีผลต่อการทำงานของตับ ดังนั้นไม่ควรรับประทาน ร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร หรือ ยาที่มีผลต่อตับ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
เพื่อความปลอดภัย ไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ นอกระบบ เพราะเป็นยาอันตราย เนื่องจากคุณภาพ ที่ได้ไม่เพียงพอต่อการรักษา และอาจอันตรายถึงแห่งชีวิตได้ ..ข้อมูลวันที่ 2 มีนาคม 2565
ท้ายนี้ Backbone MCOT ขอขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เผยแพร่ข่าวสาร และสาระความรู้ ทางด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนในสังคมนี้ และสำหรับผู้อ่าน สามารถเข้าไปค้นหา ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้ที่ เว็บไซต์และเฟซบุ๊ก หรือสื่อออนไลน์ ที่ได้อ้างอิงไว้ ซึ่ง Backbone MCOT ได้ตรวจสอบแล้วว่า เป็นแหล่งให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้จริง
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ : คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th
เฟซบุ๊ก : สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดกระบี่
https://www.facebook.com/kboph
เฟซบุ๊ก : ศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์
https://www.facebook.com/informationcovid19
เว็บไซต์ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
https://www.nhso.go.th
15 มี.ค. 2565
8010 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย