
สิทธิประโยชน์ของคนพิการ “สิทธิด้านการแพทย์”
คนพิการสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกว่า (บัตรทองคนพิการ ท.74) ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง!!! โดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ และมีสิทธิได้รับบริการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โดยติดต่อหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ใกล้บ้านทุกแห่ง
- โดยคนพิการจะได้รับบริการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์ ดังนี้
- การตรวจวินิจฉัย
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจด้วยวิธีพิเศษอื่นตามสิทธิ
- การแนะแนวให้คำปรึกษา
- บริการเป็นรายกรณี เช่น การให้ยา เวชภัณฑ์ การศัลยกรรม กายภาพบำบัด พยาบาลจิตเวช อรรถบำบัด รวมถึงกรณีการจัดหา ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ เป็นต้น
คนพิการสามารถติดต่อขอรับบริการทางการแพทย์ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลในกำกับของรัฐ สถานพยาบาลรัฐวิสาหกิจ สถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนด โดยเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามสิทธิ์ของคนพิการซึ่งกฎหมายกำหนดไว้
**สอบถามข้อมูลสถานพยาบาลได้ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สายด่วนโทร 1330 หรือ สายด่วนประกันสังคม 1506 (ยกเว้น คนพิการที่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันอื่นใดที่รัฐจัดให้แล้ว เช่น สิทธิประกันสังคมรัฐวิสาหกิจ สิทธิประกันสังคม เป็นต้น)**
อ่านสิทธิประโยชน์ของคนพิการเพิ่มเติมได้ที่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 (กฎหมายคนพิการ)
ประเภทเบี้ยความพิการ 3 ประเภท
1. คนพิการอายุน้อยกว่า 18 ปี และมีบัตรคนพิการ จะได้รับ 1,000 บาท
2. คนพิการอายุ 18 ปีขึ้นไป มีบัตรคนพิการ จะได้รับ 800 บาท
หากมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้เพิ่มอีก 200 บาทรวม 1,000 บาท
3. คนพิการที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับเบี้ยความพิการ 800 บาท บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 200 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามขั้นอายุ
• อายุ 60 - 69 ปี จะได้รับ 600 บาท
• อายุ 70 - 79 ปี จะได้รับ 700 บาท
• อายุ 80 - 89 ปี จะได้รับ 800 บาท
• อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
*คนพิการที่เป็นผู้สูงอายุสามารถรับได้ทั้งเบี้ยความพิการและเบี้ยผู้สูงอายุ*
ข้อมูลอ้างอิง:
- มติครม.วันที่ 28 ม.ค. 2563 เบี้ยความพิการ https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/26116
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ https://www.prachachat.net/general/news-601039