“โรงพิมพ์รุ่งศิลป์” จี้ “ครูอุ้ม” สั่ง 2 หน่วยงานทบทวนจ้างพิมพ์ ”องค์การค้าของ สกสค.” เหตุอ้างสิทธิพิเศษโรงพิมพ์ราชการรับงานภาครัฐดแต่ตีมึนจ้างเอกชนทำแทน ฟันหัวคิวฉ่ำ ชี้ขัดมติ ครม.ปี 2546 เต็มๆ ซัดเป็น ”นายหน้าค่ากำไร“ ปั่นราคาหนังสือเรียนแพงเกินจริง ปูดค้างค่าลิขสิทธิ์ สพฐ.บานเบอะ แปลกใจเจ้าหนี้ไม่คิดทวง เข้าข่ายละเว้นฯทำรัฐเสียหายทั้งคู่ เชื่อหาก สพฐ.จ้างเอกชนพิมพ์หนังสือเรียนเอง ลดต้นทุนผลิตฮวบ
นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด (โรงพิมพ์รุ่งศิลป์) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ทำหนังสือถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอให้พิจารณาการกระทำของ องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ว่าขัดหรือแย้งต่อมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ โดยอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤจิกายน 2546 ที่อนุมัติหลักเกณฑ์ในการให้สิทธิพิเศษแก่ โรงพิมพ์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ รวม 7 ข้อ สาระสำคัญคือ ให้ส่วนราชการ จ้างพิมพ์จากโรงพิมพ์ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยวิธีกรณีพิเศษ ซึ่งในข้อ 7 ให้คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษฯ กระทรวงการคลัง พิจารณาระงับสิทธิของโรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค. เนื่องจากตรวจพบว่า มีการส่งงานพิมพ์ให้เอกชนรับช่วงพิมพ์ต่อ ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี
“ลักษณะนี้เท่ากับว่าองค์การค้าของ สกสค. มีหน้าที่เป็นเพียงนายหน้าค้ากำไร ทำให้ราคาหนังสือแบบเรียนที่ สพฐ. และ สสวท.ให้องค์การค้าของ สกสค.ดำเนินการพิมพ์มีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ราคาจำหน่ายหนังสือที่ สพฐ.เป็นผู้กำหนดสูงเกินความเป็นจริง” นายนัทธพลพงศ์ ระบุ
นายนัทธพลพงศ์ อธิบายต่อว่า นอกจากองค์การค้าของ สกสค.จะว่าจ้างโรงพิมพ์เอกชนพิมพ์หนังสือแทนตนแล้ว ยังมอบหนังสือเรียนให้แก่บริษัทตัวแทนจำหน่าย
เอกชนทำการจำหน่ายหนังสือแบบบเรียนในการสถานศึกษาภายใต้สังกัด สพฐ. โดยองค์การค้าของ สกสค.
แสวงหากำไรจากโรงพิมพ์ ตัวแทนจำหน่าย และ สพฐ. และ สสวท. เพื่อเป็นรายได้ขององค์การค้าของ สกสค.
จึงทำให้ต้นทุนหนังสือแบบเรียนสูงเกินความเป็นจริงอย่างมาก ซึ่งองค์การค้าของ สกสค. ไม่อาจกระทำได้ เพราะขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น และขัดต่อกฎหมายด้วย เมื่อช่วงปี 2555 ก็มีกรณีลักษณะนี้ เมื่อองค์การค้าของ สกสค.ถูกตรวจพบว่า นำงานพิมพ์ที่รับจ้างจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ไปจ้างช่วงให้เอกชนพิมพ์แทน จนถูก คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษฯ กระทรวงการคลังสั่งระงับสิทธิพิเศษ และตำหนิอย่างรุนแรงในหนังสือราชการว่า เป็นหน้านายค้ากำไรโดยไม่สุจริตด้วย ขณะเดียวกัน สพฐ.และ สสวท.ก็ไม่สามารถอ้างถึงข้อตกลงที่ทั้ง 2 หน่วยงานทำไว้กับองค์การค้าของ สกสค.ได้ เพราะเมื่อองค์การค้าของ สกสค. มิได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ย่อมส่งผลให้สิทธิพิเศษในฐานะโรงพิมพ์ราชการตามข้อตกลงระหว่างกันต้องสิ้นสุดลง
“ขอให้ สพฐ. และ สสวท. เร่งพิจารณาทบทวนการให้องค์การค้าของ สกสค. ที่ทำตัวเป็น นายหน้าค้ากำไร ในการได้รับอนุญาตให้พิมพ์แลถจำหน่ายหนังสือแบบเรียนจำหน่ายในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ต่อไปหรือไม่ เพราะ สพฐ. และ สสวท. ซึ่งเป็นเจ้าของหลักสูตรการเรียนทั้งหมด สามารถดำเนินการจัดจ้างโรงพิมพ์เอกชนเองโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง อันจะส่งผลให้คุณภาพหนังสือแบบเรียนดีขึ้น และราคาจำหน่ายถูกลงอย่างมาก” นายนัทธพลพงศ์ เรียกร้อง
นายนัทธพลพงศ์ ยังได้กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ยังคงติดตามตรวจสอบ องค์การค้าของ สกสค. อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ
การพิมพ์แบบเรียน ที่บริษัทฯ มองว่า รายละเอียดและขั้นตอนการประกวดราคาในแต่ละปีที่ผ่านมาไม่ชอบธรรม มีลักษณะกีดกันการแข่งขัน ขัดต่อมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งมีคดีที่ศาลประทับรับฟ้องแล้วหลายคดี และเรื่องร้องเรียนถึงหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างไม่เหมาะสม คาดว่า หลายคดี และหลายเรื่องร้องเรียนจะมีบทสรุปเร็วๆนี้ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้พบข้อมูลหลายด้านที่สะท้อนให้เห็นว่า การบริหารองค์การค้าของ สกสค.เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ล่าสุดพบว่า ในการพิมพ์หนังสือแบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค.นั้นต้องมีการขออนุญาต และชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ สพฐ.ในฐานะเจ้าของหลักสูตรของหนังสือแต่ละเล่ม ด้วย
“ปรากฎว่า แม้องค์การค้าของ สกสค.จะทำเรื่องขออนุญาตจัดพิมพ์ และได้รับอนุญาตทุกครั้ง แต่กลับไม่ชำระค่าใช้จ่ายตามภาระผูกพันธ์ หรือค่าลิขสิทธิ์ ตามข้อตกลงที่มีไว้กับ สพฐ. จนมียอดหนี้คงค้างเป็นจำนานมาก แต่ทาง สพฐ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วยกัน กลับไม่ทวงถามแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 2 หน่วยงาน อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการอนุญาตจัดพิมพ์อาจไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้รัฐได้รับความเสียหาย” นายนัทธพลพงศ์ ระบุ
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวด้วยว่า ข้อมูลหลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับองค์การค้าของ สกสค.นั้น ยอมรับว่า บริษัทฯ ได้รับจากคนในองค์การค้าของ สกสค. ที่รักและปรารถนาดีต่อองค์กร ทนต่อพฤติกรรมของผู้บริหารที่ทำให้องค์กรตกต่ำลงกว่านี้ไม่ได้ จนเกิดคำถามว่า ยังจำเป็นที่ต้องมีองค์การค้าของ สกสค.อีกหรือไม่ เอาเฉพาะในส่วนของการพิมพ์แบบเรียน ตามภารกิจส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของชาติ ในการผลิต จำหน่าย และพัฒนาหนังสือและสื่อการเรียนการสอน ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ในอดีตโรงพิมพ์คุรุสภา หรือที่เปลี่ยนมาเป็นชื่อ องค์การค้าของ สกสค.ในปัจจุบัน เคยเป็นเจ้าภาพหลักที่แทบจะผูกขาดการพิมพ์ตำราเรียนสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา แต่ภายหลังการเปิดเสรีให้เอกชนเข้ามามีส่วนในการผลิตตำราเรียน และสื่อการเรียนรู้นั้น องค์การค้าของ สกสค. ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ ทำให้ยอดผลิตหนังสือลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวแทนจำหน่าย และโรงเรียน ก็เลี่ยงที่จะสั่งซื้อตำราแบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค. ทั้งในแง่ศักยภาพการผลิต เนื่องจากได้มีการเลิกจ้างคนงานไป จึงต้องพึ่งพาคนอื่นในการพิมพ์หนังสือแบบเรียน และหากทำผิดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ก็จะไม่สามารถดำเนินการจัดจ้างได้ตามระเบียบ ซึ่งที่ผ่านมา องค์การค้าของ สกสค.ก็มักมีพฤติการณ์ส่อไปในทางผิดกฎหมายมาโดยตลอด
“ทางออกเรื่องนี้อยู่ที่ สพฐ. และ สสวท. ที่ต้องพิจารณาทบทวนแนวทางการดำเนินการในปีการศึกษาต่อๆ ไปเพราะหากยังทำแบบเดิม ก็สุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี อาจเข้าข่ายทำให้ราชการเสียหายด้วย หรือหาก สพฐ.ดำเนินการจัดจ้างพิมพ์เอง จะสามารถลดต้นทุนหารผลิตหนังสือแบบเรียนได้กว่าครึ่งหนึ่ง ยกตัวอย่าง หนังสือภาษาพาที ขั้น ป.1 ปี 2567 ค่าจ้างพิมพ์อยู่ที่ 21.24 บาทต่อเล่ม ค่าพิมพ์ปก 2 บาทต่อเล่ม หรือมีต้นทุนผลิตที่ 23.24 บาทต่อเล่ม แต่กลับตั้งราคาจำหน่ายที่ปกถึง 51 บาท ทำให้ต้นทุนที่ตั้งงบให้กับโรงเรียนหรือผู้ปกครองต้องซื้อหนังสือสูงกว่าความเป็นจริงประมาณ 25 บาท หรือมากกว่าเท่าตัว ถือว่าทำให้ส่วนรวมเสียหายเป็นอย่างมาก“ นายนัทธพลพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย