X
รพ.จุฬาฯ ชวนทำบุญผู้ป่วย น้อมถวายฯ วันแม่ปีนี้

รพ.จุฬาฯ ชวนทำบุญผู้ป่วย น้อมถวายฯ วันแม่ปีนี้

1 ส.ค. 2565
1200 views
ขนาดตัวอักษร

ในโอกาสเดือนของ วันแม่แห่งชาติ ปีนี้ และเนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 รพ.จุฬาฯ ได้โพสต์ชวนร่วมทำบุญ ให้กับผู้ป่วย ผ่านกองทุนค่ารักษาพยาบาลฯ พร้อมน้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ ซึ่งผู้มีบริจาคตั้งแต่ 1 พันบาทขึ้นไป จะได้รับเหรียญทรงคุณค่า 3 องค์สภานายิกา สภากาชาดไทย เป็นที่ระลึก พร้อมนำใบเสร็จ ใช้ลดภาษีได้อีก 2 เท่า

เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เผยแพร่ข้อมูล เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ปีนี้ ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคเงินสมทบ กองทุนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยสามัญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย



และผู้ที่ร่วมบริจาคเงิน 1,000 บาทขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 จะได้รับเหรียญ 3 องค์สภานายิกา สภากาชาดไทย เป็นที่ระลึก ซึ่งประกอบด้วย

1. สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
2. สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
3. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


สนใจร่วมบริจาคได้ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

+ ฝ่ายพิธีการ ตึกวชิรญาณวงค์ เปิดให้บริการ ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 07.00 - 15.00 น. โทรศัพท์ 02-256-4382 หรือ 02-256-4505

+ ศาลาทินทัต เปิดให้บริการ วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00-19.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 08.00-15.00 น. โทรศัพท์ 02-256-4397

ทั้งนี้ ใบเสร็จ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

สำหรับเรื่องของ 3 องค์สภานายิกา สภากาชาดไทย ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง กับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ Backbone MCOT มีข้อมูลจากเว็บไซต์ รพ.จุฬาฯ ซึ่งได้มีการจัดทำบทความอยู่ใน วารสาร ฬ.จุฬา ซึ่งเป็นวารสารรายเดือน ที่จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ กิจกรรม ข่าวสาร ความรู้ ผลงาน ทั้งของแพทย์ และนิสิตแพทย์ ซึ่งในปีที่ 3 ฉบับที่ 29 ได้กล่าวถึง 3 องค์สภานายิกา สภากาชาดไทย โดยในปีนี้ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค จะได้รับเหรียญที่ทรงคุณค่าดังกล่าว และในครั้งนี้ Backbone MCOT ขออนุญาตนำบทความ บางช่วงบางตอน มาเล่าย่อ ๆ ดังนี้



1. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระนามเดิมว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี” เป็นพระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 ทรงเป็นผู้มีพระปัญญาเฉียบแหลม ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทรงเข้ารับราชการ สนองพระเดชพระคุณ เป็นพระมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่มีพระชนม์ 15 พรรษา พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี ในปีถัดมา

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ในปี พ.ศ. 2440 ทรงมอบหมายให้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระองค์ ทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธยจาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ” นับเป็น “สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์แรกของสยามประเทศ”

พ.ศ. 2436 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ “จัดตั้งสภาอุณาโลมแดง” เพื่อเป็นศูนย์กลางบรรเทาทุกข์ และช่วยเหลือทหาร และราษฎร ผู้บาดเจ็บจากความขัดแย้ง ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อหลังจากวิกฤตการณ์ผ่านไป สภาอุณาโลมแดง จึงใช้ชื่อว่า “สภากาชาดสยาม” และเปลี่ยนชื่อเป็น “สภากาชาดไทย” จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็น องค์กรสาธารณประโยชน์ แห่งแรกในประเทศไทย โดย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงดำรงตำแหน่ง “องค์สภานายิกา พระองค์แรก” รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 26 ปี




2. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระนามเดิมว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา” เป็นพระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 ทรงเข้ารับราชการ สนองพระเดชพระคุณ เป็นพระมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่มีพระชนม์ 16 พรรษา

เมื่อครั้ง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. 2463 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงรับหน้าที่ เป็นสภาชนนี ทรงใส่พระทัยดูแลองค์กรการกุศลนี้ ร่วมกับเจ้านายสตรีบางพระองค์ และภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงได้ทรงดำรงตำแหน่ง “สภานายิกา สภากาชาดไทย พระองค์ที่ 2”

พระองค์ ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อจัดตั้งกองทุน และนำไปสู่การส่งนักเรียน ไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ในต่างประเทศ พร้อมพระราชทานนามกองทุนว่า “ทุน 6 เจ้าฟ้า” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระราชโอรส และพระราชธิดา 6 พระองค์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่ “ยูเนสโก” ได้ประกาศยกย่อง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นบุคคลสำคัญของโลก




3. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีฐานันดรเมื่อแรกพระราชสมภพ คือ “หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร” เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ประสูติแต่ หม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร พระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475

วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงดำรงตำแหน่ง “สภานายิกา สภากาชาดไทย” สืบต่อจาก สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่เสด็จสวรรคตลง

เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจต่าง ๆ ด้วยพระปรีชาสามารถ และสนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย เมื่อทรงลาผนวชแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”


พระองค์ ได้พระราชทานความช่วยเหลือ และทรงอุปถัมภ์ผู้อพยพหนีภัยสงคราม จากประเทศเพื่อนบ้าน ในยุคที่คอมมิวนิสต์ เริ่มแผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ลี้ภัยจำนวนมาก หลั่งไหลเข้ามาในเขตแดนประเทศไทย ที่บริเวณเขาล้าน จังหวัดตราด ในปี พ.ศ. 2522 พระองค์ ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสถานการณ์ด้วยพระองค์เอง จากนั้นจึงมีพระเสาวนีย์ ให้สภากาชาดไทย ประสานกับกาชาดสากล เพื่อส่งอาสาสมัคร พร้อมเวชภัณฑ์ และเครื่องอุปโภคบริโภค ออกไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยเหล่านั้น ซึ่งมีทั้งคณะแพทย์พยาบาล ไปรักษาผู้อพยพ พระราชทานครู ไปช่วยฝึกหัดอาชีพ เพื่อเป็นความรู้ติดตัวไปใช้ทำมาหากิน ในยามที่ถูกส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรของพระองค์ และทรงยึดมั่นในพระราชปณิธานที่ว่า “ทุกข์ของราษฎร คือ ทุกข์สุขของพระองค์เอง”




วารสาร ฬ.จุฬา (เอกสารดาวน์โหลด) ปีที่ 3 ฉบับที่ 29
อ่านบทความ (ฉบับเต็ม) คลิกที่นี่ เรื่องของ > (3 องค์สภานายิกา สภากาชาดไทย)




ซึ่งนอกจากเรื่องของ 3 องค์สภานายิกา สภากาชาดไทย ยังมีบทความอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ

+ คณะแพทย์ จุฬาฯ ผู้นำองค์ความรู้สู่ยุค 4.0 ด้วยแอปพลิเคชันการแพทย์ ระดับโลก uCentral

+ นวัตกรรมใหม่ สำหรับผู้ป่วยสูงวัย ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น

+ รู้ทันยาความดัน วาลซาร์แทน ผู้ป่วยเปลี่ยนยาใหม่ได้ฟรี

+ แขนกลช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) ทางเลือกที่แพทย์ใช้ ทางรอดที่ผู้ป่วย มะเร็งต่อมลูกหมาก มั่นใจ

+ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง และโรคอุบัติใหม่ กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันทรงเกียรติ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (พระราชทาน) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

+ เมื่อเป็นหวัด ควรดูแลตัวเองอย่างไร





#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
https://www.facebook.com/ChulalongkornHospital

เว็บไซต์ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
https://chulalongkornhospital.go.th

เว็บไซต์ : สภากาชาดไทย
https://www.redcross.or.th



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล