X
ลักษณะ

ลักษณะ "พญาคชสีห์" เครื่องหมายราชการแห่งกลาโหม

29 ก.ค. 2565
7620 views
ขนาดตัวอักษร

"คชสีห์" เป็นลักษณะของราชสีห์ผสมกับช้าง (คช) ซึ่งคติไทยถือว่า "ช้าง" เป็นสัตว์ประจำชาติใช้ในราชสงคราม ดังนั้นตราคชสีห์จึงสอดคล้องกับข้าราชการที่ออกสงครามอันหมายถึงทหารนั่นเอง ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นทั้งพลเรือนและทหารต้องถูกเกณฑ์ไปราชการสงคราม และรับราชการเหมือนกัน 

"ราชสีห์" คติความเชื่อที่นำ "ราชสีห์" มาเป็นสัญญลักษณ์นั้น น่าจะมาจากคติของศาสนาพราหมณ์ ในตำนานของโหราศาสตร์ที่ถือว่า พระอาทิตย์ขี่ราชสีห์ และพระอาทิตย์เองก็ถูกสร้างมาจากราชสีห์ กล่าวคือ พระอิศวรได้นำเอาราชสีห์ 6 ตัวมาป่นให้ละเอียด แล้วห่อด้วยผ้าสีแดงแล้วพรมด้วยน้ำอมฤต ก็จึงบังเกิดพระอาทิตย์ขึ้น และราชสีห์นี้ได้นำมาใช้เทียมราชรถของผู้ยิ่งใหญ่ เช่น พระอาทิตย์ ดังนั้นอิทธิพลของการใช้ราชสีห์เป็นสัญญลักษณ์จึงปรากฏในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ภาพปูนปั้นฐานเจดีย์ และภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมถึงปรากฏในตำนานเมืองนครราชสีมา ตำนานพระนอนจักรสีห์ และพระมหาเวสสันดอนชาดกกัณฑ์มหาพน เป็นต้น

คุณลักษณะของราชสีห์ที่ปรากฏในหนังสือปัญหาพระยามิลินท์สีห์ วรรคที่ 5 นั้นมี ลักษณะ 7 ประการคือ

1. เป็นสัตว์ที่สะอาดหมดจดไม่มัวหมอง

2. เที่ยวไปด้วยเท้าทั้งสี่ มีเยื้องกรายอย่างกล้าหาญ

3. มีรูปร่างโอ่อ่า สร้อยคอสะสวย

4. ไม่นอบน้อมสัตว์ใด ๆ แม้ต้องเสียชีวิต

5. หาอาหารไปโดยลำดับ พบปะอาหารที่ใดก็กินเสียจนอิ่มในที่นั้น ไม่เลือกว่าดี หรือ ไม่ดี กินได้ทั้งนั้น

6. ไม่มีการสะสมอาหาร

7. หาอาหารไม่ได้ก็ไม่ดิ้นรน ได้ก็ไม่ทะเยอทะยาน และไม่กินจนเกิน

ข้อมูลเพิ่มเติม 

"พญาคชสีห์ราชเสนีพิทักษ์" หมายความว่าเป็นทหารพิทักษ์พระราชา 

"พญาคชสีห์สยามปฐพีพิทักษ์" หมายความว่าพิทักษ์แผ่นดินไทย "

ซึ่งความหมายรวมคือ เราจะพิทักษ์ประเทศชาติและราชบัลลังก์  


ขอขอบคุณรูปภาพจาก : พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม - Defence Hall

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจ : วัดสุทธาวาส ตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)