7 พ.ย.66 – ถึงช่วงออกพรรษาของทุกปี ใครที่นับถือศาสนาพุทธ อาจเคยร่วมทำบุญ “ทอดกฐิน” ที่ว่ากันว่าเป็นบุญใหญ่ประจำ ที่มีเพียงปีละครั้งเท่านั้น แล้ว “กฐิน” เริ่มขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมถึงเป็นงานบุญใหญ่ที่ไม่ควรพลาด
วันออกพรรษาปี 2566 ผ่านมาแล้ว ซึ่งเราเริ่มได้เห็นบรรยากาศของแต่ละชุมชน หรือแต่ละครอบครัว จัดแจงข้าวของทรงเครื่องต่างๆ และขาดไม่ได้ “ต้นกฐิน” เพื่อนำไปร่วมทำบุญครั้งใหญ่ที่มีเพียงปีละครั้ง “ทอดกฐิน” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ตามประวัติ “การทอดกฐิน” หรือการ “ถวายผ้ากฐิน” เป็นการถวายทานที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ชื่อ “มหาวัคค์” เรื่อง “กฐินขันธกะ” ระบุว่า “ครั้งหนึ่งมีภิกษุชาวเมืองปาฐา หรือปาวา จำนวน 30 รูป ที่เดินทางมาด้วยหวังจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี พอถึงเมืองสาเกตุอีก 6 โยชน์จะถึงเมืองสาวัตถีก็ถึงกาลเข้าพรรษา จึงต้องอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้
ในระหว่างจำพรรษาอยู่นั้นก็มีความกระวนกระวายในการอยากจะเข้าเฝ้าพระผู้มี พระภาค ครั้นเมื่อออกพรรษา ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันที ทำให้น้ำหรือโคลนตมเปรอะเปื้อนจีวรในระหว่างเดินทางเมื่อภิกษุเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า พระพุทธองค์ ทรงปฏิสันถารด้วยภิกษุเหล่านั้น และทรงทราบถึงความลำบากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงทรงยกเป็นเหตุมีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน และโปรดให้เป็นการสงฆ์ คือเป็นสังฆกรรมสำหรับภิกษุทั้งหลายทั่วไป ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน”
กฐิน ตามอรรถกถาฎีกาต่างๆ กล่าวไว้มี 2 แบบ คือ
1. “จุลกฐิน” เป็นกิจกรรมสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันหนึ่ง นับตั้งแต่การเก็บฝ้ายปั่นฝ้าย กรอ ทอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันฑ์ ได้ขนาดตามวินัย แล้วทอดถวายให้แล้วเสร็จในวันนั้น
2. “มหากฐิน” เป็นการจัดหาผ้ามาเป็นองค์กฐิน พร้อมทั้งเครื่องไทยธรรม บริวารเครื่องกฐินจำนวนมาก ไม่ต้องทำโดยรีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหาทุนในการบำรุงวัด เช่น การบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานภายในวัด
“กฐิน" ยังแบ่งเป็น 4 ประเภท
1. พระกฐินหลวง เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น พุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ 16 พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน
2.กฐินต้น พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินำปถวายผ้าพระกฐินวัดที่ไม่ได้เป็นวัดหลวง และเป็นการบำเพ็ยพระราชกุศลส่วนพระองค์เอง
3. พระกฐินพระราชทาน คือ พระกฐินที่ถือว่า ผ้าพระกฐิน บริขาร และบริวารกฐิน เป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่สมควร ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ นอกจากพระอารามหลวงสำคัญ 16 พระอารามดังกล่าว รัฐบาลโดยกรมการศาสนาจัดหาผ้าพระกฐิน และบริวารพระกฐิน ปัจจุบันมีจำนวน265 พระอาราม
4. กฐินทั่วไป หรือ “กฐินราษฎร์” เป็นการถวายผ้ากฐินที่พุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความประสงค์จะนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดใดวัดหนึ่งที่เป็นวัดราษฎร์ (ไม่ใช่พระอารามหลวง) ซึ่งผู้ที่มีความประสงค์จะทำบุญทอดกฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่ง
•
ความรู้ “กฐิน” เป็นชื่อเรียกกรอบไม้แม่แบบสำหรับทำไตรจีวร ในสมัยโบราณ
•
“กฐิน” ที่นิยมทอดในปัจจุบัน เรียกว่า “มหากฐิน” โดยหากมีเจ้าภาพหลายคน นิยมเรียกว่า “กฐินสามัคคี” โดยกติกาคือ ใน 1 ปี วัดแต่ละแห่ง จะรับกฐินได้ครั้งเดียวเท่านั้น หลายครั้ง เราจึงได้เห็นวัดใหญ่ วัดดัง แม้แต่วัดประจำชุมชนมักมีการจองคิวกฐินล่วงหน้า บางวัดคิวยาวข้ามปีก็มี เว้นแต่วัดที่เป็นพระอารามหลวงจะได้รับ “กฐินพระราชทาน” อีกสิ่งสำคัญคือ วัดนั้นจะต้องมีพระสงฆ์จำพรรษาครบ 5 รูป หากวัดใดมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาไม่ถึง 5 รูป จะต้องนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่น ๆ มาร่วมพิธีกรรมให้ครบ 5 รูปเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ครบองค์สงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติ
งานทอดกฐิน บางพื้นที่ยิ่งคึกคัก จะมีการจัดขบวนแห่กฐินอย่างสนุกสนาน บ้างมาทางน้ำ บ้างเดินทางทางบก บ้างก็มีการฟ้อนรำนำหน้าขบวนด้วย เมื่อถึงวัดจะแห่เครื่องกฐินเวียนขวารอบศาลาหรือวิหาร 3 รอบก่อนนำเครื่องกฐินขึ้นตั้งบนศาลาหรือวิหาร เมื่อพระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพจะอุ้มผ้ากฐิน ล่าวคำถวายก่อนประเคนให้พระผู้ใหญ่พร้อมด้วยเครื่องบริขารอื่น ๆ
•
เครื่องประดับที่มักเห็นคู่กับการทอดกฐิน คือ การประดับธงกฐิน ซึ่งเป็น “ปริศนาธรรม” ได้แก่
👉“ธงจระเข้” แทนความโลภเพราะปากใหญ่กินไม่อิ่ม
👉“ธงตะขาบ” แทนความโกรธที่แผดเผาใจดุจพิษตะขาบ
👉“ธงนางมัจฉา” แทนความหลงใหลในสาวงาม
👉“ธงเต่า” แทนสติ คือควรระวังกายใจดุจเต่าที่หดอวัยวะซ่อนไว้ในกระดอง
•
คำถวายผ้ากฐิน กล่าวนะโม 3 จบ ตามด้วย
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะจีวะ ระทุสสัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง ปะฏิคัณหาตุ ปะฏิคคะเหตะวา จะ อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 โดยเพิ่มคำว่า “ทุติยัมปิ” นำหน้า แล้วสวดซ้ำเหมือนเดิม สวดซ้ำเป็นครั้งที่สามโดยเพิ่มคำว่า “ตะติยัมปิ” นำหน้า แล้วสวดซ้ำเหมือนเดิม
•
แปลว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ผ้ากฐินพร้อมทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ”
•
“ทอดกฐิน” บุญใหญ่ประจำปีเชื่อว่า
👉ทำให้เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์สินมาก และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยง่าย
👉ทำให้เป็นผู้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์ และผ่องใสอยู่เสมอ
👉ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่น เป็นสมาธิและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย
👉ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นบุญกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่
👉ทำให้เป็นคนรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของคนทั่วไป
👉ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียง เกียรติคุณ น่ายกย่องสรรเสริญ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาน่าเคารพนับถือ
•
ส่วนใครที่กำลังคิดอยากทอดกฐินในปีต่อๆ ไปบ้าง ขั้นตอน ดังนี้
1.จองกฐิน เมื่อต้องการจองกฐินที่วัดไหน ให้แจ้งขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้นให้รู้อย่างทั่วถึง
2.เตรียมการ เมื่อจองกฐินแล้ว ต้องกำหนดวันทอดกฐินให้ชัดเจน ก่อนแจ้งให้เจ้าวัดท่านทราบ เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่นๆ ตามกำลังศรัทธา
3.วันงาน นิยมตั้งองค์พระกฐิน ที่บ้านเจ้าภาพ หรือที่วัด มักมีกิจกรรมสนุกสนาน วันทอดกฐินนิยมแห่ด้วยขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงประกอบ เป็นงานบุญรื่นเริง