25 ก.พ.68 - สามร้อยยอด ดินแดนมหัศจรรย์ ค้นพบครั้งใหญ่ครั้งใหม่ “ปังปอน” โครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งโบราณ อายุกว่า 29,000 ปี เก่าแก่ที่สุดในไทย อนาคตที่เที่ยวใหม่ ท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติ
อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถานที่ยิดฮิตของสายท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แห่งเมืองสามอ่าว มีทั้งเส้นทางธรรมชาติ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นหมุดหมายของนักแสวงโชค และล่าสุดที่สุดของประเทศไทยก็ค้นพบ ณ สามร้อยยอด แห่งนี้ “โครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งโบราณ อายุกว่า 29,000 ปี”
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับกรมศิลปากร ร่วมกันเปิดเผยการค้นพบครั้งสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด พบ “โครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งโบราณ” อายุกว่า 29,000 ปี ซึ่งได้รับการตรวจสอบและยืนยันแล้วว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง “เก่าแก่ที่สุดในไทย” โดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ดำเนิน "โครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน" ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อศึกษาร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวทางมรดกศิลปวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดในอนาคต
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า หลังจากที่ปี 2563 ได้พบภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ จึงเริ่มขุดค้นในคูหาที่ 3 ชิดผนังถ้ำ เนื่องจากพื้นดินมีฝุ่นขี้เถ้าไฟ ทำให้พบโบราณวัตถุประเภทขวาน เปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเมล็ดพืชจำนวนมาก สันนิษฐานว่ามีหลักฐานคนยุคก่อนประวัติศาสตร์
จึงขุดลึกอีก 2 เมตร จนพบโครงกระดูกมนุษย์ พิจารณาฟันแล้ว คาดว่าเป็นเด็กช่วงอายุ 6-8 ปี จำนวน 1 โครง ยังไม่ระบุเพศ ตั้งชื่อโครงกระดูกนี้ว่า “ปังปอน”
หลังจากส่งไปหาค่าอายุ ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ทราบว่า มีอายุประมาณ 29,000 ปี โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเทียบกับค่าอายุยุคมนุษย์น้ำแข็งร่วมสมัยในเชิงลึก และจะทำการขุดค้นอย่างต่อเนื่อง
นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ด้านโบราณคดีของประเทศ และเป็นการค้นพบหลักฐานใหม่ของโลก ที่ได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์อายุกว่า 29,000 ปี เทียบได้กับสมัยยุคน้ำแข็ง โดยการขุดค้นครั้งนี้ เป็นความสำเร็จร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในการสำรวจเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำดิน และบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย
ด้านนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะนำจุดนี่มีการพบที่ถ้ำดิน มาเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ศึกษาธรรมชาติเชื่อมโยงระหว่าง แหล่งถ้ำดินที่ขุดค้นพบ และอาจสำรวจด้วยว่าด้านบนจะมีจุดชมวิวที่เหมาะสมด้วยหรือไม่ คงต้องมีการหารือพูดคุยกันต่อไปกับทางกรมศิลปากร ก่อนเปิดให้ท่องเที่ยวต่อไป
นี่แหละเสน่ห์ของเมืองไทย ที่ยังมีอะไรรอการค้นหา รอการพบเจอ แล้วพาเราย้อนเรื่องราวกลับสู่อดีตที่กว่าจะเดินทางอันแสนยาวนานจนถึงปัจจุบัน “หลงรักไทย”