รู้หรือไม่ ในปี พ.ศ. 2125 เดือนตุลาคม มีแค่ 21 วัน โดยหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 วันรุ่งขึ้นกลับกลายเป็นวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2125 เกิดจากอะไร วันหายไปไหน 10 วัน Backbone MCOT หาคำตอบมาให้ทุกคนแล้ว
เนื่องจาก ในปีพุทธศักราช 2125 (ค.ศ. 1582) เป็นปีที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินกริกอเรียนแทนปฏิทินจูเลียน สมเด็จพระสันตะปาปาทรงปรับปรุงปฏิทินโดยมีผลย้อนหลัง จึงกำหนดให้วันรุ่งขึ้นถัดจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 เป็นวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2125 ในครั้งแรกของการปรับวัน จำนวนวันจึงถูกร่นขาดหายไป 10 วัน
ปฏิทินกริกอเรียน คืออะไร?
ปฏิทินกริกอเรียน (Gregorian Calendar) ดัดแปลงมาจากปฏิทินจูเลียน ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศตะวันตก สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนมาใช้ เนื่องจากปีในปฏิทินจูเลียน ซึ่งยาวนาน 365.25 วันนั้น มีนานกว่าปีฤดูกาลจริง (365.2425 วัน) อยู่เล็กน้อย ทำให้วันวสันตวิษุวัตของแต่ละปี ขยับเร็วขึ้นทีละน้อย เพื่อที่จะให้วันอีสเตอร์ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม (วันวสันตวิษุวัต) จึงจำเป็นต้องปฏิรูปปฏิทิน และประกาศใช้ครั้งแรกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 13 เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2125 (ค.ศ. 1582)
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเมื่อคำนวณอย่างละเอียดตามหลักวิทยาศาสตร์ 1 ปี จะมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 365 วัน 5 ชั่วโมง 48 นาที 46 วินาที (ประมาณ 365.242199074 วัน) แต่ปฏิทินกริกอเรียนกำหนดให้หนึ่งปีมี 365.2425 วัน ดังนั้น ปฏิทินนี้จึงคลาดเคลื่อนไปโดยช้าลงปีละประมาณ 26 วินาที