X
สีหวานขนาดนี้ น้อง..คือ ผีเสื้อกลางคืน ฮีโร่นักผสมเกสร สายเงียบ

สีหวานขนาดนี้ น้อง..คือ ผีเสื้อกลางคืน ฮีโร่นักผสมเกสร สายเงียบ

21 ส.ค. 2565
4670 views
ขนาดตัวอักษร

ใครที่มีภาพจำ.. ผีเสื้อกลางคืน ดูน่ากลัว สีไม่สวย ตัวดำ ๆ มืด ๆ วันนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลผีเสื้อประจำสัปดาห์ จากเพจองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งหนึ่ง ที่ยกย่องน้องผีเสื้อ ที่เห็นนี้ว่า เป็นฮีโร่ตัวน้อย นักผสมเกสร ที่ทำงานอย่างเดียว จะไม่พูดไม่คุย ไม่ส่งเสียงร้อง และน้องเป็น.. ผีเสื้อกลางคืน แต่กลับมีสีหวาน ดูน่ารัก ฟรุ้งฟริ้ง มุ้งมิ้ง กับขนที่ดูอ่อนนุ่ม ปุกปุย ดูแล้วน่าสัมผัส น่าหยุมหัวมาก...




โดยเพจเฟซบุ๊ก Catskill Mountainkeeper ได้โพสต์ข้อมูล พร้อมรูปภาพ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา (30 ก.ค. 2565) กล่าวถึง ผีเสื้อกลางคืน Rosy Maple Moth ซึ่ง Backbone MCOT ขอนำข้อมูลบางส่วน มาบอกเล่า พร้อมกับการขยายความเรื่อง ดังนี้



เพจ Catskill Mountainkeeper ระบุว่า เตรียมตัวให้พร้อม สำหรับคนที่ชื่นชอบ สีสันของผีเสื้อกลางคืน ซึ่ง Rosy Maple Moth (Dryocampa rubicunda) เป็นผีเสื้อกลางคืน ที่แน่นอนว่า มีสีสันดูโดดเด่นมาก อันนี้ ทีมงานฯ ขอเสริมยกแรกว่า ถ้าเป็นเมืองไทยบ้านเรา คงเรียกน้องว่า น้องหวาน..ถึงหวานมาก (ไปแล้ว) ก็ดูสีสันของน้องแล้ว ใครที่มีภาพจำว่า ผีเสื้อกลางคืน ดูน่ากลัว สีก็ไม่สวย สีดำ ๆ มืด ๆ แต่เมื่อเห็นน้อง... คงอดใจไม่ได้ ที่จะชวนให้รู้สึก... ฟรุ้งฟริ้ง มุ้งมิ้ง น่าหยุมหัวน้องมาก..(ใช่ไหม?) โดยปรากฏว่า สีสันของผีเสื้อกลางคืนชนิดนี้ เป็นวิวัฒนาการ ที่เป็นการพรางตัว ในแบบที่ไม่คาดคิด แต่มีประสิทธิภาพ โดยทางเพจ Catskill ชี้ว่า เป็นการเลียนแบบ ฝักเมล็ด ของต้นเมเปิล (maple) ขณะที่บางสำนักข่าว แปลตรงตัวชื่อของน้องว่า ผีเสื้อกลางคืนเมเปิล สีดอกกุหลาบ



และสำหรับ ต้นเมเปิล ในเมืองไทยนั้น มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ต้นก่วม โดยเป็นภาษาท้องถิ่น ที่นิยมใช้เรียกต้นไม้กลุ่มเมเปิล และภาพใบเมเปิล ที่คุ้นตาผู้คนส่วนใหญ่ คือ ก่วมแดง พบได้ในภาคอีสาน บริเวณภูกระดึง จังหวัดเลย แต่ก็มีสายพันธุ์ชนิดอื่นอีก เช่น ต้นก่วมเชียงดาว ที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และ ก่วมขาว พบอยู่บน ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น



อย่างไรก็ตาม ทางเพจ Catskill Mountainkeeper ได้แนะนำ Rosy Maple Moth เป็นผีเสื้อประจำสัปดาห์ พร้อมอธิบายเสริมว่า น้องเป็น ผีเสื้อกลางคืน ที่ไม่มีวันส่งเสียงร้องออกมาได้ แต่เป็นฮีโร่ในการผสมเกสรพันธุ์ไม้ ซึ่งคุณอาจไม่เคยรู้ เกี่ยวกับผีเสื้อ The Rosy Maple Moth นี้ว่า เป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ที่ได้สูญเสียปาก ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนจาก ระยะหนอนผีเสื้อ ไปเป็นตัวเต็มวัย และในช่วงที่เป็นหนอนผีเสื้อ ใบเมเปิ้ลถือเป็นอาหารโปรด นอกจากนี้ ผีเสื้อกลางคืน (Moths) มีวิวัฒนาการที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่ง คือ การอาศัยแสงจากดวงจันทร์ ในการสำรวจสภาพแวดล้อม และป่าไม้ในภูมิภาคนี้ (เทือกเขา Catskill) ก็เป็นแหล่งผีเสื้อกลางคืนจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง ผีเสื้อกลางคืน The Rosy Maple Moth



สำหรับรูปภาพสวย ๆ ของผีเสื้อกลางคืน เหล่านี้เป็นผลงานภาพถ่ายของ Carla Rhodes (Photographer) นอกจากนี้ ทางเพจฯ ได้เชิญชวนให้มา ร่วมแสดงความคิดเห็น พูดคุยเกี่ยวกับ รูปภาพของผีเสื้อกลางคืน (moths) ที่พบเห็นได้ในเทือกเขา Catskill

ทั้งนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลจากเพจ Catskill Mountainkeeper ซึ่งได้เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ชื่อเดียวกัน เปิดเผยว่า เป็นองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งเทือกเขา Catskill และเป็นองค์กรที่ไม่แสดงหาผลกำไร มีภารกิจปกป้องภัยคุกคาม พื้นที่ป่าไม้ อากาศ น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม บริเวณเทือกเขา Catskill ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของนิวยอร์ก (ดูข้อมูลพื้นที่ เทือกเขา Catskill ได้จากภาพ อ้างอิง wikipedia)

รับชมภาพ และข้อมูล ผีเสื้อกลางคืน Rosy Maple Moth จากเพจ Catskill Mountainkeeper
คลิกที่นี่ >
https://www.facebook.com/photo/?fbid=426016712903451&set=a.385503650288091



สำหรับเมืองไทย Backbone MCOT ยังหาข้อมูลไม่พบว่า มีปรากฏให้พบเห็นน้องหวาน (Rosy Maple Moth) ในพื้นที่ของประเทศไทย (แต่หากท่านใด พบเห็น ฝากโพสต์มาแจ้งได้นะครับ) เพราะความน่ารัก ฟรุ้งฟริ้ง มุ้งมิ้ง แบบนี้ ไม่ยากเลย ที่จะทำให้สถานที่แห่งนั้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในฉับพลัน แต่สำหรับน้อง.. ผีเสื้อสีหวาน ๆ เหล่านี้ คงยากที่จะได้พบเห็นในไทย ซึ่งไม่ใช่เพียงลักษณะของพื้นที่ภูมิภาคแล้ว ยังมีเรื่องของฤดูกาลที่แตกต่างกันอีก ซึ่งเดือนนี้ เมืองไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ทางฝั่งอเมริกา เป็นช่วงที่กำลังจะหมด ฤดูร้อน (Summer) และก้าวเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) ในเดือนหน้า กันยายน

นอกจากนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลจาก สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืช ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กสำนักวิจัยฯ ไว้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 กล่าวถึง ผีเสื้อกลางคืน Rosy Maple Moth ว่า เป็นผีเสื้อสีหวาน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dryocampa rubicunda เป็นผีเสื้อกลางคืน ที่มีสีสันสวยงาม ด้วยสีสันอันหวานแหวว บวกกับขนปุกปุย สีชมพูหวาน ตัดกับสีเหลืองนวล ซึ่งถือว่าเป็นผีเสื้อกลางคืน ที่สวยที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากลักษณะกายภาพส่วนใหญ่ ของผีเสื้อกลางคืน จะมีสีโทนมืด และส่วนใหญ่ จะออกไปทางสีน้ำตาล หรือ สีดำ

Rosy Maple Moth เป็นผีเสื้อกลางคืนพื้นถิ่น และพบได้ทั่วไปใน ทวีปอเมริกาเหนือ เพศเมีย จะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ เมื่อกางปีก เพศเมีย จะมีขนาดประมาณ 40 - 50 มิลลิเมตร ส่วนเพศผู้ จะมีขนาดประมาณ 32 - 44 มิลลิเมตร ไข่ของ Rosy Maple Moth มีสีเหลือง วงจรชีวิตของพวกมัน ก็เหมือนผีเสื้อกลางคืนทั่วไป คือ มีการวางไข่ ฟักเป็นหนอน เจริญเติบโตเป็นดักแด้ ก่อนจะสยายปีกบิน เมื่อโตเต็มวัย และในระยะตัวหนอน พวกมันจะกิน ใบต้นเมเปิลเป็นอาหาร ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของชื่อ โรซี่ เมเปิล นั่นเอง

อ้างอิงที่มา : Metro



และปิดท้าย ด้วยสีสันต้นเมเปิลผลัดใบ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดพิษณุโลก จากเพจเฟซบุ๊ก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) ที่ได้โพสต์ภาพสวย ๆ ไว้ให้นักท่องเที่ยว ได้ชื่นชมกันทุก ๆ ปี พร้อมเชิญชวนด้วยว่า

ใกล้แล้วหนา เตรียมตัวกันนะเจ้าคะ.. ช่วงปลายเดือน ธ.ค. ถึงกลางเดือน ม.ค. “ใบเมเปิล” หรือ “ดอกเสือไฟเดือนห้า” พันธุ์ใบสามแฉก อายุกว่า 70 ปี (ข้อความเมื่อ 7 พ.ย. 2561) จะพร้อมใจกันผลัดใบ เปลี่ยนสีสวยงามเป็นสีแดง สีเหลืองแดง และสีเหลือง ร่วงหล่นสู่พื้นไปทั่วบริเวณ โรงเรียนการเมืองการทหาร และลานกางเต็นท์ ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก เปรียบเสมือน พรมแดงกลางป่าใหญ่ ที่ธรรมชาติได้สรรสร้างไว้ อย่างงดงาม นับว่าเป็นปรากฏการณ์ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ ให้นักท่องเที่ยว ต้องเดินทางมาชม และไม่พลาดที่จะหยิบกล้องขึ้นมา กดชัตเตอร์รัว ๆ ไปเลย พร้อมได้ให้เครดิตกับ ภาพที่ 1,5 : i-styletravel.com

ทั้งนี้ ท่านที่สนใจ จะรอเก็บภาพความงดงาม ของต้นเมเปิลเปลี่ยนสี สามารถติดตามได้จากเพจนี้ เค้ามีลงข้อมูลไว้ตลอด (มีลิงก์เพจ ไว้ด้านล่างบทความ)


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : Catskill Mountainkeeper
https://www.facebook.com/CatskillMountainkeeper

เว็บไซต์ : Catskill Mountainkeeper
https://www.catskillmountainkeeper.org

เฟซบุ๊ก : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
https://www.facebook.com/100064921080583

เว็บไซต์ : วิกิพีเดีย (ข้อมูล - Catskill Mountains)
https://en.wikipedia.org/wiki/Catskill_Mountains

เฟซบุ๊ก : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก)
https://www.facebook.com/dnpphitsanulok



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)