อาการป่วย อาจดูน่ากลัว รุนแรง แต่เพื่อให้เกิดความตระหนัก ถึงสถานการณ์ของโรคดังกล่าว ที่ล่าสุด สหรัฐฯ ประกาศเป็นโรคระบาด ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ข้อมูล 4 ส.ค. 2565) และวันนี้ (5 ส.ค. 2565) กรมควบคุมโรค รายงาน พบผู้ป่วยยืนยัน โรคฝีดาษวานร รายที่ 4 ของประเทศไทย เป็นหญิงไทย มีประวัติเสี่ยงใกล้ชิด กับชายชาวต่างชาติ ที่สถานบันเทิง เบื้องต้นคาดว่า ติดเชื้อจากการที่มีสัมผัสใกล้ชิด เร่งค้นหากลุ่มเสี่ยง แนะงดการมีเพศสัมพันธ์ กับคนที่ไม่รู้จัก
วันนี้ (5 สิงหาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานพบ ผู้ป่วยยืนยัน โรคฝีดาษวานร รายที่ 4 ของประเทศไทย เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี มีประวัติเสี่ยง ไปเที่ยวสถานบันเทิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย่านที่ชาวต่างชาติ นิยมมาเที่ยวเป็นประจำ ประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมีการสัมผัสใกล้ชิด กับชายชาวต่างชาติ โดยผู้ป่วยเริ่มมีไข้ ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 แต่ยังไปเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมเพื่อนชาวไทย และชาวต่างชาติ วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 เริ่มมีตุ่มขึ้นที่แขนขา แล้วลามไปทั่วร่างกาย รวมถึงอวัยวะเพศ วันที่ 3 สิงหาคม 2565 จึงเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก TRC-EIDCC โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยืนยัน พบเชื้อฝีดาษวานร (Monkeypox virus) วันที่ 4 สิงหาคม 2565 ก่อนส่งตัวผู้ป่วย มารับการดูแลรักษาต่อ ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค นับเป็นผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานร เป็นรายที่ 4 และเป็นเพศหญิงรายแรกในประเทศ โดยผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นชายชาวไนจีเรีย ที่ภูเก็ต, รายที่ 2 ชายชาวไทย ในกรุงเทพมหานคร และรายที่ 3 ชายชาวเยอรมัน ที่ภูเก็ต
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้กำชับให้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ประสานสำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เร่งติดตาม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่เป็นเพื่อนร่วมห้อง ของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ผู้สัมผัสคนอื่น ๆ และเร่งติดตามตัว ชายชาวต่างชาติแล้ว และเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานร ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ๆ ซึ่งจะติดต่อได้ จากการสัมผัสใกล้ชิดมาก ๆ จึงขอให้กลุ่มเสี่ยง เพิ่มความระมัดระวัง และงดการสัมผัสใกล้ชิด กับคนแปลกหน้า เพื่อลดความเสี่ยง ในการติดเชื้อฝีดาษวานร
สถานการณ์ โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. 65) ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 26,208 ราย พบผู้ป่วยยืนยัน เพิ่มขึ้นเป็น 83 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาด ส่วนใหญ่ พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป
ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่
+ สหรัฐอเมริกา 6,617 ราย
+ สเปน 4,806 ราย
+ เยอรมัน 2,781 ราย
+ อังกฤษ 2,672 ราย
+ ฝรั่งเศส 2,239 ราย
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ขอแนะนำประชาชน ให้ปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันโรคฝีดาษวานร
+ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด กับคนแปลกหน้า หรือเพิ่งรู้จักกัน
+ งดการมีเพศสัมพันธ์ กับคนที่ไม่รู้จัก เพราะมีความเสี่ยง ที่ไม่รู้ประวัติพฤติกรรม และการป่วยของคนนั้น
ย้ำ... การปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 ยังสามารถป้องกัน ฝีดาษวานรได้ โดยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว ร่วมกับผู้อื่น กินอาหารร้อนปรุงสุก หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่มีอาการเข้าข่าย ของโรคฝีดาษวานร โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หนอง ตามผิวหนัง และพยายามไม่จับบริเวณหน้า ตา จมูก ปาก หากประชาชน มีอาการสงสัยว่า ตนเองมีอาการป่วยเข้าข่าย โรคฝีดาษวานร สามารถติดต่อ สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เปิดเผยว่า
ฝีดาษลิง ในสหรัฐอเมริกา ทำเนียบขาว ประกาศ Monkeypox เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข Kelly Wairimu Davis, MS 04 สิงหาคม 2565
การพัฒนาใหม่ ที่สำคัญที่สุด คือ สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยาของสหรัฐ กำลังพิจารณา ข้อเสนอแนะว่า ควรให้วัคซีนฉีดเข้าทางผิวหนัง ที่ใช้ปริมาณน้อยกว่ามาก - หนึ่งในห้าของขนาดปกติ ทำให้ปริมาณ วัคซีน Jynneos ที่จำกัด สามารถดำเนินต่อไปได้
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th
เฟซบุ๊ก : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
https://www.facebook.com/thiravat.h
5 ส.ค. 2565
540 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย