X
นกเงือก นกที่รักเดียวใจเดียว

นกเงือก นกที่รักเดียวใจเดียว

13 ก.พ. 2565
5830 views
ขนาดตัวอักษร

13 ..65 - 13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก ร่วมอนุรักษ์นกเงือก นักปลูกป่าแห่งพงไพร ตัวแทนของความรักเดียวใจเดียว


หาก 14 กุมภาพันธ์ คือวันแห่งความรักของมนุษย์ แล้ว “นกเงือก” ก็มีวันแห่งความรักเฉพาะของสัตว์ปีกตัวใหญ่ตัวนี้เช่นกัน นั่นคือวันที่ “13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก ที่ รักนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ขยายเผ่าพันธุ์แต่ยังเผื่อแผ่ให้กับผืนป่าของไทยอีกด้วย


ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุไว้ว่า “นกเงือก” เป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปแอฟริกา และเอเชีย 


นิสัยที่สำคัญ และกลายเป็นตัวอย่างให้กับหลายๆคนได้ นกเงือกเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว โดยไม่ว่าจะยังมีชีวิตหรือคู่ตายไป นกเงือกก็จะอยู่กับคู่ตัวเอง และไม่หาคู่ใหม่เป็นอันขาด 


นกเงือกยังมีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะหารัง เป็นโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก 


ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี 


ส่วนเรื่องของความรักนั้น หลายคนต้องคาราวะให้กับ “นกเงือก” กันเลย เนื่องจากความรักของนกเงือกที่ไม่ได้สร้างกันง่ายๆ นกเงือกเมื่อเลือกคู่แล้ว จะต้องเลือกสถานที่ทำรังที่เหมาะสม ซึ่งตัวผู้จะทำหน้าที่หาโพรงที่สัตว์ต่างๆ ได้ทำทิ้งไว้ หรือที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามต้นไม้สูง 


เมื่อตัวเมียพอใจกับรังตัวผู้นำเสนอตัวเมียจึงยอมให้ผสมพันธุ์ แล้วนกทั้งคู่ก็จะช่วยกันหาเศษใบไม้ใบหญ้ามาสร้างรังเพื่อรอต้อนรับลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก แล้วหลังจากนั้นก็จะหาเศษดินมาปิดปากรังเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่าต่างๆ รวมทั้งสร้างความอบอุ่นให้กับแม่ลูก


แม่นกเงือกจะคอยกกไข่และให้ความอบอุ่นกับลูกที่ฟักมาอยู่ภายในรังโดยไม่ได้ออกไปไหน ตัวผู้จึงมีหน้าที่ในการออกหาอาการเพื่อนำมาเลี้ยงชีวิตทั้งลูกน้อยและคู่รัก จนกว่าลูกนกจะโตพอบินได้จึงกะเทาะปากโพรงที่สร้างด้วยเศษดินนั้นออกมา 


ความรักของนกเงือก เปรียบเสมือนรักแท้ในป่าทึบ เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่นกตัวผู้เกิดไม่ออกหาอาหาร หรือตายไป คู่รักของมันที่รออยู่ที่โพรงก็จะยังคงรออยู่อย่างนั้น ไม่มีวันออกไปไหน รอจนหมดเรี่ยวแรงและตายลงไปพร้อมกับลูกนกเคราะห์ร้ายที่ไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับโลกภายนอก


นอกจากความรัก และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของนกเงือกแล้ว นกเงือกยังเป็นสัตว์สำคัญที่เป็นตัวแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่มันอาศัยอยู่ เพราะมันจำเป็นจะต้องสร้างรังในโพรงต้นไม้สูง แข็งแรง ในป่าทึบ และด้วยความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง 


นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี สามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้นต่อสัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง500,000 ต้น

ความรักของนกเงือก จึงไม่ใช่เพียงเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้กับสายพันธุ์ของมันเองเท่านั้น มันกลับเผื่อแผ่ความรักของมันให้กับป่า ให้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของมัน ซึ่งมนุษย์เราก็ได้รับประโยชน์จากความรักนั้นในทางอ้อมจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

ปัจจุบันนกเงือกยังถูกคุกคามอย่างมาก เพราะยังมีการล่าเอาหัวและโหนกของมันไปแปรรูปเป็นเครื่องประดับและของขลัง แล้วขายต่อให้คนสั่งซื้อทั้งในไทยและทางประเทศ


ทางมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันรักนกเงือกเพื่อเป็นการรณรงค์และสร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการอนุรักษ์นกเงือกอย่างจริงจัง นั่นเอง

ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้ง หมด 13 ชนิด จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ได้แก่

นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง Great Hornbill, Buceros bicornis

🔻นกเงือกหัวแรด Rhinoceros Hornbill, Buceros rhinoceros

🔻นกเงือกหัวหงอก White-crowned Hornbill, Berenicornis comatus

🔻นกชนหิน Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil

🔻นกแก๊ก หรือ นกแกง Oriental Pied Hornbill, Anthracoceros albirostris

🔻นกเงือกดำ Black Hornbill, Anthracoceros malayanus

🔻นกเงือกคอแดง Rufous-necked Hornbill, Aceros nipalensis

🔻นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว Austen's Brown Hornbill, Anorrhinus austeni

🔻นกเงือกสีน้ำตาล Tickell's Brown Hornbill, Anorrhinus tickelli

🔻นกเงือกปากดำ Bushy-crested Hornbill Anorrhinus galeritus

🔻นกเงือกปากย่น Wrinkled Hornbill, Aceros corrugatus

🔻นกเงือกกรามช้าง หรือนกกู่กี๋ Wreathed Hornbill, Rhyticeros undulatus

🔻นกเงือกกรามช้างปากเรียบ Plain-pouched Hornbill, Rhyticeros subruficollis

ขอบคุณภาพ/ข้อมูล : กรมอุทยานแห่งชาติฯ, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า


Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)