สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย โดย นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) จัดงานครบรอบ 48 ปี ECOT ภายใต้แนวคิด “รากฐานที่แข็งแกร่ง สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจากนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดี ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุช ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และดร.อธิป อัศวานนท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษและกล่าวแสดงความยินดี พร้อมกันนี้ นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานกิตติมศักดิ์ และคณะผู้บริหารสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ องค์กรภาคีเครือข่ายภาคนายจ้างและแรงงานจากทั้งในและต่างประเทศ อาทิ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO),องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน(IOM),มูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น (JILAF) ที่เข้าร่วมแสดงความยินดีอย่างคับคั่ง
นายเอกสิทธิ์ กล่าวว่า ECOT ได้ยืนหยัดเคียงข้างผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอดในวันที่เกิดวิกฤตต่างๆทั้งในประเทศและระดับโลกที่ถาโถมเข้ามา เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตซับไพรม์ วิกฤตจากภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว หรือภัยแล้ง วิกฤตโควิด–19 เราผ่านทุกบททดสอบเหล่านั้นมาได้ด้วยความเข้มแข็งและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ประกอบการด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และความร่วมมือกันอย่างแท้จริง ECOT ได้มีส่วนสำคัญในเสนอแนะแนวนโยบายด้านแรงงานและการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการและแรงงานจนอาจกล่าวได้ว่า ECOT เป็นเสียงที่ชัดเจนของภาคเอกชนไทย ทั้งในระดับประเทศ อาเซียน และเวทีโลก เรายึดมั่นในหลักการของ “งานที่มีคุณค่า” (Decent Work) ที่ไม่ใช่เพียงการที่คนมีงานทำเท่านั้น แต่เป็นการมีงานทำอย่างมีศักดิ์ศรี มีรายได้ที่เพียงพอ มีความปลอดภัย และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันตินำมาซึ่งการแรงงานสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ คุณภาพชีวิตที่ดี สังคมที่มีคุณภาพ และเศรษฐกิจที่มั่นคง
ทั้งนี้ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติในภาคแรงงานและภาคเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการเคลื่อนย้ายของแรงงานดังกล่าวในภาวะที่โลกไร้พรมแดน เราได้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการหยั่งรากลึกไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านทักษะต่างๆ ท่ามกลางความท้าทายต่างๆอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี และสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการแข่งขันและการเคลื่อนย้ายของทรัพยากรต่างๆอย่างไร้พรมแดนและขีดจำกัด ล้วนส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพของภาคแรงงานและความยั่งยืนของผู้ประกอบการ โดยแนวทางที่ ECOT จะก้าวเดินต่อไปคือ “ECOT Digital ACADEMY” ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาและการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการ, แรงงาน และผู้ที่จะเข้าสู่ภาคแรงงาน บนพื้นฐานของ Technology/Digital/AI โดยได้รับความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากภาคีเครือข่าย เช่น ICDL ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ของ ECOT
นายบุญสงค์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 48 ปีสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ที่เดินเคียงข้างควบคู่ไปกับกระทรวงแรงงาน โดยถือเป็นเสาหลักของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าควบคู่กับการจ้างการดำเนินการของภาคส่วนต่างๆ ได้ทำงานควบคู่กับกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากฎหมายคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคม,การส่งเสริมทักษะแรงงานยุคใหม่รองรับDigital Economy การขยายความคุ้มครองทางสังคมและได้ร่วมทำ CSR ที่ยั่งยืน โดย ECOT ถือว่าเป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยนับได้ว่าเป็นผู้กำหนดจีดีพีของประเทศ สิ่งหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจคือ กระทรวงแรงงานและสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยได้ยกระดับมาตรฐานแรงงานผ่านอนุสัญญา ILO เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมาได้ไปประกาศเจตนารมย์ในการทำอนุสัญญาอนุญญา ILO155 และการปฏิรูปกฎหมายเชิงรุก รวมถึงการเตรียมแรงงานของประเทศไทยสู่แรงงานในอนาคตด้วย
ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ DCT กับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลของประเทศไทย ว่า ตลอดระยะเวลา 48 ปีที่ผ่านมา สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย(ECOT) ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญในการเป็นเสาหลักของภาคแรงงานไทยในการส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนสนับสนุนให้มีการจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิผลเป็นศูนย์รวมความร่วมมือระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตลอดจนความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจ เอกชนและภาครัฐ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้า จึงขอแสดงความชื่นชมและยินดี กับความสำเร็จในทุกด้านที่ผ่านมาตลอด 48 ปี สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบโดยการส่งเสริมพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกด้าน มีการสร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัลในทุกช่วงวัย และพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาค วันนี้สภาดิจิทัลฯได้เห็นความสำคัญ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลและการใช้ AI ในภาคธุรกิจและแรงงานไทยและเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งในอนาคตทางสภาดิจิทัลฯ และสภาองค์การนายจ้างฯ จะร่วมดำเนินการในการขับเคลื่อนประเทศ ยกระดับความรู้ทักษะด้านดิจิทัลและAI สำหรับพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยให้สามารถปรับตัวและเติบโตไปกับเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด
ขณะที่ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Future Workforce ในยุค AI นายจ้างจะอยู่อย่างไรในยุคที่ : คนไม่เก่งจะตกงาน คนเก่งจะลาออก เศรษฐกิจจะหดตัว” ว่า เมื่อ AI มา จะมีคนตกงานอย่างมหาศาล ซึ่งทุกครั้งที่เทคโนโลยีมีการดิสรัปชั่น คนไม่เก่งจะตกงาน คนเก่งจะไม่อยู่กับเรา เพราะจะไปตั้งธุรกิจใหม่มาแข่งจนนายจ้างเดิมอยู่ไม่ได้ และเมื่อมีการลดจำนวนแรงงานลงใช้ AI เงินจะถูกส่งตรงไปยังต่างประเทศเลยจะทำให้ 10 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจหดตัวอย่างแน่นอน สำหรับ AI บางคนอาจจะมองว่าดี แต่สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างบอกว่าจะยิ่งทำให้คนจนลงแต่หลีกเลี่ยงที่จะใช้มันไม่ได้เพราะถ้าไม่ใช้ AI ก็สู้คู่แข่งไม่ได้ โดยสภาดิจิทัลฯ เป็นเอกชนรายเดียวที่ร่วมประชุมกับนายกฯในคณะกรรมการบอร์ด AI การลงทุนในสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีประเทศไทยเป็นที่ที่ต่างชาตินำเงินมาลงทุนส่วนใหญ่เป็นสิงคโปร์ อินโดนีเซียและอื่นๆซึ่งประเทศไทยได้รับเงินลงทุนเข้ามาเหนือกว่าพม่าและลาว,กัมพูชาในภูมิภาคนี้ ซึ่งตอนนี้ไทยอยู่เหนือแค่ 3 ประเทศนี้เท่านั้น คุณภาพทักษะแรงงานของไทยไม่ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งสวนทางกับค่าจ้างที่แพงขึ้น เช่นในเวียดนามค่าแรงของแรงงานถูกกว่าไทยเท่าตัว และแรงงานมีทักษะ เก่งกว่าเรา จึงไม่แปลกใจที่ต่างชาติไม่ลงทุนในประเทศไทยแต่ไปลงทุนต่างประเทศมากกว่า ซึ่งเมื่อ AI ถาโถมเข้ามา จะส่งผลกระทบกับสภาองค์การนายจ้างฯและนายจ้างโดยตรง จึงต้องมีการปรับตัวทั้งระบบ เพื่อสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) ได้ปฏิบัติภารกิจทุกมิติด้วยความมุ่งมั่น ในฐานะตัวแทนนายจ้างของการทำงานแบบไตรภาคีตลอดระยะเวลา 48 ปีที่ผ่านมาเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างนายจ้าง,ลูกจ้างและรัฐบาล การยกระดับมาตรฐานแรงงานของประเทศไปสู่ระดับมาตรฐานสากลในลักษณะของงานที่มีคุณค่า (Decent Work) การเพิ่มศักยภาพของแรงานไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศด้วยการส่งเสริมความรู้ การพัฒนาและฝึกอบรมให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง การให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติและข้อกฎหมายต่าง ๆ ด้านแรงงานแก่สมาชิกและผู้ประกอบการทั่วไปการเป็นตัวแทนนายจ้างไทยในการร่วมแสดงความคิดเห็นด้านแรงงานในเวทีนานาชาติ ตลอดจนการร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศต่างๆหลายองค์กรเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาแรงงานทั้งที่เป็นแรงงานคนไทยและแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น