ใครที่กำลังเดินทางกลับหลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ ช่วงการจราจรติดขัด อาจมีอาการเมารถ เมาเรือ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ นั่งรถนาน มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือนอกจากนี้ อากาศที่ร้อน สลับ แอร์เย็นบนรถ อาจเกิดการเจ็บไข้ ไม่สบาย ในระหว่างการเดินทาง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำสมุนไพร ยาขิง แก้อาการเมารถ เมาเรือ สมุนไพรกะเพราแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และยาฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ ไอ เจ็บคอ ช่วยรักษาอาการเบื้องต้น
ยาขิง
เป็นยาสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ และร้านขายยาทั่วไป
สรรพคุณ : ป้องกันการเมารถ เมาเรือ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ และช่วยขับลม บรรเทาอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ขนาดและวิธีใช้ : ใช้ตามฉลากข้างขวดยา หรือ รับประทานครั้งละ 1 - 2 กรัม ก่อนการเดินทาง 30 นาที - 1 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ นอกจากนี้ยังสามารถดื่มเป็นน้ำขิง ก่อนการเดินทางก็ได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ใน ผู้ที่ใช้ยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด หรือละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน วาร์ฟาริน และคลอพิโดเกรล และไม่แนะนำให้ใช้ใน เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ขวบ
กะเพรา
สรรพคุณ : ป้องกัน และบรรเทาอาการ เมารถ เมาเรือ ช่วยขับลมในกระเพาะ แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง และสามารถ แก้อาการคลื่นเหียน อาเจียน
ขนาดและวิธีใช้ : นำกะเพรา 1 กำมือ ต้มในน้ำเดือด 15 นาที กรองเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 200 - 250 มิลลิลิตร ก่อนเดินทาง 30 นาที - 1 ชั่วโมง ได้เช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันอาการ เมารถ เมาเรือ แก้อาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร ในช่วงเดินทางไกลได้ดี
ฟ้าทะลายโจร
สรรพคุณ : แก้อาการที่แปรปรวนจาก แดดออก อากาศร้อน หรือการเดินทาง ที่ต้องขึ้นลงรถ อากาศที่เย็นและร้อนสลับกัน อาจทำให้เป็นไข้ หรือมีอาการไข้ เช่น ไอ เจ็บคอได้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยาทั่วไป
ขนาดและวิธีใช้ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1. รูปแบบผงบด ให้รับประทานครั้งละ 1.3 - 3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน
2. รูปแบบสารสกัด ให้รับประทาน ในขนาดยาที่มีสาร andrographolide 60 - 120 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หรือกินตามฉลากยาได้เลย
ข้อควรระวัง : ยาฟ้าทะลายโจร ไม่แนะนำให้รับประทาน เพื่อป้องกันไข้หวัด ให้รับประทาน เพื่อรักษาโรค หรือเฉพาะช่วงที่มีอาการเท่านั้น / ผู้ที่ใช้ยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด หรือละลายลิ่มเลือด เช่นเดียวกับยาขิง และหากใช้แล้ว 3 วัน อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ควรหยุดใช้ และไปพบแพทย์ทันที
ห้ามใช้
- ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร
- หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ผู้ที่มีไข้สูง หนาวสั่น มีตุ่มหนองในลำคอ
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรสามารถติดต่อที่ กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก
- โทรศัพท์ : 02-149-5678
- เฟซบุ๊ก : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph
- ไลน์ : @DTAM
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก