X
ปลัดมหาดไทย เปิดการฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น

ปลัดมหาดไทย เปิดการฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น

12 ก.พ. 2567
350 views
ขนาดตัวอักษร

"หลอมรวมพลังผู้กล้าเพื่อเป็นจิตอาสาประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน"


ปลัดมหาดไทย เปิดการฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น รุ่นที่ 6 เน้นย้ำ ทุกคนคือผู้กล้าที่จะมาเป็น "ครูจิตอาสา" ถ่ายทอดบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้ลูกหลานไทยมีความรู้ที่ถูกต้อง อันนำพาประเทศชาติให้มีความมั่นคง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน


วันนี้ (12 ก.พ. 67) เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมทิพย์ช้าง ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 6 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นางสาวนิติยา พงษ์พานิช นายชนาธิป เสมแย้ม นายพัชระ สิมะเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายปกรณ์ กรรณวัลลี ปลัดจังหวัดลำปาง นางสาวสุดาทิพย์ มูลอ้าย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 13 อำเภอ นายยอดชาย ผ้าเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ลำปาง สุโขทัย พะเยา ลำพูน น่าน แพร่ เชียงราย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 150 คน ร่วมรับฟัง 


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 6 ทุกท่าน ณ ที่นี้คือผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" และพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ที่เป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ ด้วยการมุ่งแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ซึ่งตลอด 5 วัน 4 คืนที่ทุกท่านมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนี้ เป็นสิ่งที่คุ้มค่าและมีประโยชน์ยิ่งต่อประเทศชาติของพวกเรา โดยขอให้พวกเราได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทาน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ความว่า "เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่ประเทศไทยบรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย ....ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ..... ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์ ..... อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย" ไปทำหน้าที่เป็นดั่ง "ครูจิตอาสา" เสริมสร้างพลังความรักความสามัคคี ผ่านการไปถ่ายทอดบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้กับพี่น้องประชาชนทุกเพศ ทุกวัยที่อยู่ในภูมิลำเนา ที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย ทำให้ประชาชนคนไทย ลูกหลานไทยทุกคน ได้ซึมซับประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของชาติไทย ทำให้เราได้ภาคภูมิใจว่า บรรพชนของชาติไทย นับเนื่องแต่สมเด็จพระบูรพกษัตราธิราชเจ้าทุกพระองค์ ทำให้พวกเรามีผืนแผ่นดินไทยที่ได้ชื่อว่า "สุวรรณภูมิ" เป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ผู้คนอยู่กันอย่างสะดวกสบายตราบถึงทุกวันนี้


"ที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียนของพวกเราทุกคนที่ต่างมีส่วนทำให้เด็กรุ่นปัจจุบันไม่มีโอกาสได้รู้ประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง เพราะในยุคปัจจุบันผู้คนที่ได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะได้เรียนรู้จากละคร จากภาพยนตร์ แต่วิชาประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษพวกเราทุกคนมีน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องใกล้ตัว ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ครอบครัว บางคนโชคดีมีองค์ความรู้จากรุ่นทวด แต่ถ้าโชคร้ายก็จะรู้น้อยเพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่ได้เล่าให้ฟัง เหมือนเวลาทำบุญเสร็จต้องกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เราจะมีการเอ่ยชื่อถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติมิตรครูอุปัชฌาย์อาจารย์ บางครอบครัวลูกหลานแทบไม่รู้จักเทือกเถาเหล่ากอ และซ้ำร้ายเมื่อแต่ละคนแยกย้ายกันไปตั้งรกรากมีครอบครัวในต่างจังหวัด ห่างไกลกัน ลูกหลานก็ไม่รู้จักกัน สุดท้ายลูกหลานก็ไม่รักกัน ไม่มีโอกาสได้ช่วยเหลือกัน เพราะไม่มีโอกาสพูดคุยกัน ไม่รู้จักมักคุ้นกัน ความรักความสามัคคีในหมู่พี่น้อง ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่นเดียวกันกับประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษไทยที่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อสูญเสียแผ่นดินเพื่อให้พวกเราได้คงอยู่ ก็แทบไม่ได้รับการถ่ายทอดสู่ลูกหลานมากนัก แต่ก็ยังเป็นที่น่ายินดีที่ในหลายจังหวัดยังคงจัดกิจกรรมเนื่องในวันรำลึกนึกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไทย เช่นที่จังหวัดตราด ทุกเดือนมีนาคมจะมีการจัดงาน "ตราดรำลึก" เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชผู้ทรงรักและหวงแหนคนตราดในฐานะลูกหลานไทยใต้พระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ในยุคที่จังหวัดตราดเดินทางไปได้ยากที่สุด แต่ด้วยพระปรีชาชาญของพระองค์ทรงทำให้ราชอาณาจักรไทยเป็นผืนเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างสำคัญว่า การบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งการจัดงานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ของแต่ละท้องถิ่น แต่ละจังหวัด และของประเทศ เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดขึ้น และคงอยู่คู่กับทุกพื้นที่" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น


นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า การฝึกอบรมในรุ่นที่ 6 นี้ เป็นรุ่นที่น่าดีใจที่เรามีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ผู้มีความมุ่งมั่น นับตั้งแต่พระคุณเจ้าทั้ง 3 รูป ผู้เป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ และภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนา เพื่อทำหน้าที่เป็นสาธารณูปการ นำองค์ความรู้ไปเผยแผ่ประดุจการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้พี่น้องพุทธศาสนิกชน เด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทุกช่วงวัย ได้มีองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สอดแทรกในการสาธยายธรรม การบรรยายธรรม การสัมโมทนียกถา อันจรรโลงให้พวกเขาได้มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ตลอดจนถึงมีผู้จัดรายการวิทยุ ผู้เป็นภาคีเครือข่ายภาคสื่อสารมวลชน จะได้นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดผ่านสื่อวิทยุให้แพร่หลายกว้างขวาง จากการที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับ "ครู 3 ป" คือ ครูป๊อด ครูปั๊ม และครูป้ายู และขอเป็นกำลังใจให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคน ผู้เป็นคนที่กล้าเสียสละความสุขส่วนตัวมาทำหน้าที่จิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ในส่วนที่เป็นสาธารณูปการชักชวนผู้คนมาพูดคุยในเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ช่วยกันขยายความรู้เพื่อให้คนในชาติไทยได้มีความรู้พระเกียรติคุณสมเด็จพระบูรพกษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ ช่วยแก้ไขสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในพื้นที่จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้นำในการหนุนเสริมให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมทุกท่านได้ไปถ่ายทอดความรู้ ไปสร้าง "ครู ข" เพื่อเป็นผู้ช่วยในการขยายผลองค์ความรู้เหล่านี้ให้แพร่หลายทั่วถึงมากยิ่งขึ้น


"จังหวัดลำปางโชคดีกว่าจังหวัดอื่น เพราะท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ได้มีโอกาสมาฟัง มาพูดคุยกับพวกเรา และช่วยในการอำนวยความสะดวกในการวางแผนเพื่อให้ครูจิตอาสาบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้มีโอกาสในการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรมจำนวนหลายรุ่น ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้นำของจังหวัด นายอำเภอในฐานะผู้นำของอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการซึ่งเป็นผู้นำภาคราชการให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญยิ่งกว่านั้น คือ การลงมือปฏิบัติ ด้วยการหาเวที ทั้งเวทีที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ "เวทีที่เป็นทางการ" คือ ที่ประชุมกรมการจังหวัด กรมการอำเภอ การประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การประชุมหมู่บ้าน ที่จะมีเกิดขึ้นทุกเดือน รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่ง ในส่วน "เวทีที่ไม่เป็นทางการ" ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ได้น้อมนำพระดำริ "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ส่งเสริมให้ประชาชนที่อยู่อาศัยบ้านเรือนติดกันรวมตัวเป็นคุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน มีการจัดตั้งกรรมการคุ้ม กรรมการป๊อก มีการประชุมพูดคุยกันในทุกสัปดาห์เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ และการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" โดยมีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นแม่งาน รวมไปถึงการส่งเสริมพลังการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดตั้งและมีระบบบริหารจัดการ "ธนาคารขยะ" ที่มีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นแม่งาน รวมถึงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่พวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันขยายผล เพื่อที่จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทย กลับมาเป็นผู้คนที่อยู่ในสังคมแห่งความผาสุก มีความรักความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล เฉกเช่นสังคมไทยที่ดีงามในอดีต ความสุขที่ยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น 


นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า วันนี้ตั้งใจมาเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่าน และขอเรียนว่า กระทรวงมหาดไทยไม่ได้คิดทำแค่ 18 รุ่น แต่เราจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไป เพราะกรุงโรมไม่สามารถสร้างเสร็จได้ภายในวันเดียวฉันใด "ครูจิตอาสาบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" ก็ฉันนั้น และเป็นเรื่องที่ยิ่งหนักกว่าการสร้างกรุงโรม ทุกคนคือผู้นำที่มีความสำคัญ ท่านคือผู้กล้าก้าวเข้ามาเป็นจิตอาสาฝึกอบรมครูบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้บ่มเพาะความกล้าที่มีอยู่แล้วให้กล้าแกร่งเพิ่มมากขึ้น ด้วยการไปช่วยทำให้พี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยมีความเข้าใจในรากฐานความมั่นคงของชาติ ความรักความสามัคคีของคนในชาติ ด้วยการบอกเล่าสิ่งที่ดีของประวัติศาสตร์ไทย เพื่อปกป้องจิตสำนึกความรักชาติ รักผืนแผ่นดิน และช่วยทำให้โครงการนี้เติบใหญ่ก้าวกระโดด ด้วยการสร้างครู ข ให้เต็มแผ่นดิน จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอช่วยหนุนเสริมให้เกิด "ครู ข" เพิ่มมากขึ้น ด้วยการไปค้นหาคนในตำบลหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมช่วยเป็นแม่พิมพ์ ไปหล่อหลอม ครู ข ในพื้นที่จังหวัดของท่าน ทำให้ครู ข เป็นผู้ช่วยไปบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ให้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มีโอกาสที่ดีในชีวิตเหมือนกับทุกท่าน อันเป็นการช่วยกันทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ทำให้คนในชาติรู้จักรากเหง้าของตนเอง อันได้แก่ บรรพบุรุษของชาติไทยที่เสียสละเลือดเนื้อชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยไปด้วยกัน

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)