X
เหตุใด ? ลามทั่วโลก แต่..WHO ไม่จัด..ฝีดาษวานร โรคระบาดฉุกเฉินฯ

เหตุใด ? ลามทั่วโลก แต่..WHO ไม่จัด..ฝีดาษวานร โรคระบาดฉุกเฉินฯ

27 มิ.ย. 2565
470 views
ขนาดตัวอักษร

จากความน่ากลัว อาการสำคัญของโรค ที่แสดงภาพในผู้ป่วยติดเชื้อ โรคฝีดาษวานร และเกิดการแพร่กระจาย เชื้อโรคชนิดนี้ ออกไปหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุดข้อมูลตอนนี้ ระบาดไปแล้ว 47 ประเทศ ผู้ติดเชื้อมากกว่า 3,000 ราย แต่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เปิดเผย สาเหตุยังไม่จัดให้ เป็นโรคระบาด ที่มีความฉุกเฉิน ในระดับนานาชาติ (PHEIC)



รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม รองหัวหน้าภาคฯ ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 กล่าวถึงข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก ที่ไม่ประกาศฝีดาษวานร เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยระบุว่า

สรุปสาระสำคัญจาก องค์การอนามัยโลก เรื่องฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร ว่า จากการประชุมของ คณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน ล่าสุดเมื่อ 23 มิถุนายน 2565 ได้ข้อสรุปว่า ยังไม่ประกาศฝีดาษวานร เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพราะการระบาด แม้จะกระจายไปทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่เป็นการระบาด ที่เกิดในกลุ่มเฉพาะ และอัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ

ซึ่งสาระสำคัญเกี่ยวกับ การระบาดของฝีดาษวานรทั่วโลก มีดังนี้

1. ข้อมูลถึง 22 พฤษภาคม 2565 ระบาดไปแล้ว 47 ประเทศ

2. ประเทศส่วนใหญ่ ที่พบเคสฝีดาษวานรนั้น ไม่เคยพบการระบาดมาก่อน

3. ประเทศ ที่มีจำนวนเคสมาก มักอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรป

4. บางประเทศ พบเคสฝีดาษวานร โดยไม่มีประวัติเชื่อมโยง ไปยังพื้นที่ระบาด ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า มีการติดเชื้อแฝง อยู่ก่อนหน้านั้นในพื้นที่อยู่แล้ว โดยไม่ถูกตรวจพบ

5. เคสฝีดาษวานรส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย และเป็นเกย์ ไบเซ็กส์ชวล หรือชายรักชาย ลักษณะอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง หรืออยู่ในเครือข่ายสังคมเดียวกัน กับผู้ติดเชื้อ หรืออยู่ในเครือข่าย การมีเพศสัมพันธ์กันกับผู้ติดเชื้อ

6. อาการป่วย ที่พบบ่อยนั้น มักไม่ตรงไปตรงมา โดยอาจมีตุ่ม หรือผื่นขึ้น บริเวณอวัยวะเพศ, รอบอวัยวะเพศ, รอบทวารหนัก หรือรอบปาก และมักไม่ได้กระจาย ไปที่อื่นของร่างกาย

7. ตุ่ม หรือผื่นที่ขึ้น อาจเกิดขึ้นก่อนมีอาการอื่น ๆ ได้ เช่น ไข้, ต่อมน้ำเหลืองโต, ครั่นเนื้อครั่นตัว (ขออธิบายเพิ่มเติม ให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ลักษณะดังที่กล่าวมา มีความแตกต่างจากอาการป่วย ของฝีดาษวานร ที่เคยทราบกันมาก่อนว่า ตุ่ม หรือผื่น จะเกิดหลังไข้ราว 3 - 5 วัน)

8. จากการระบาดที่ผ่านมา 3 พันกว่าราย มีเสียชีวิตไป 1 ราย โดยเป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีจำนวนผู้ป่วย ที่ต้องนอนรักษาตัว ในโรงพยาบาลไม่กี่ราย

9. จากข้อมูลของ เนเธอร์แลนด์ ที่ศึกษาจากผู้ป่วย 18 คน พบว่า ระยะเวลาฟักตัวอยู่ที่ 8.5 วัน (พิสัยตั้งแต่ 4.2 - 17.3 วัน)

10. จากข้อมูลของ สหราชอาณาจักร ที่ศึกษาจากผู้ป่วย 17 ราย พบว่า ระยะเวลาจากคนแรก ที่มีอาการไปจนถึงคนที่ 2 ซึ่งรับเชื้อจากคนแรกแล้วมีอาการ (serial interval) คาดประมาณอยู่ที่ 9.8 วัน (ช่วงความเชื่อมั่น ตั้งแต่ 5.9 - 21.4 วัน)


11. จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อไปแล้ว 10 คน โดย 9 คน เป็นการติดเชื้อ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

ทั้งนี้ คงมีการติดตามสถานการณ์ และผลการศึกษาเกี่ยวกับ ฝีดาษวานรกันต่อไป ว่า จะมีหลักฐาน ที่ชี้ให้เห็นว่า การระบาดขยายวงมากขึ้น หรือ มีการกระจายไปสู่สัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่จะกลายเป็นรังโรค (reservoir) ใหม่ของเชื้อ ก่อนที่จะมีการพิจารณา เรื่อง การประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน ด้านสุขภาพได้

อย่างไรก็ดี ไทยเราจำเป็นต้องเฝ้าระวังให้ดี ประชาชนควรระมัดระวัง ในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอยู่ในกิจการ กิจกรรมที่เสี่ยง หรือมีลักษณะบริการ ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดคน ตลอดจนการมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก คนใกล้ชิด ก็ควรสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ด้วย เพื่อที่จะได้ป้องกัน ไม่ให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อกัน โดยไม่รู้ตัว



อ้างอิง
อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ >>
(Meeting of the International Health Regulations (2005) Emergency Committee regarding the multi-country Monkeypox outbreak. WHO. 25 June 2022)





ทั้งนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 กล่าวถึงโรคฝีดาษวานร ที่องค์การอนามัยโลก ยังไม่จัดให้เป็น โรคระบาดที่มีความฉุกเฉินฯ ว่า

WHO ตกลงยังไม่จัด ฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร เป็นโรคระบาดที่มีความฉุกเฉิน ในระดับนานาชาติ (PHEIC) เพราะข้อมูลยังมีไม่มากพอ ซึ่งต้องจับตาดูสถานการณ์ การระบาดทั่วโลกต่อไป ก่อนจะตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อวานนี้ ผมเห็นข้อมูลชิ้นหนึ่ง ที่หน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ รวบรวมมาเกี่ยวกับ ผู้ป่วยฝีดาษวานรในประเทศ โดยแบ่งตามอายุ และเพศของผู้ป่วย ซึ่งจะเห็นว่า ผู้ป่วยแทบทั้งหมด เป็นผู้ชาย และ ที่แปลกใจ คือ มีกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 45 ปี อยู่พอสมควรทีเดียว เนื่องจากอังกฤษ มีนโยบายฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ กับประชากรทั้งประเทศ และ หยุดไปเมื่อ 50 ปีก่อน ทำให้เชื่อว่า ผู้ป่วยที่อายุเกิน 50 ปี น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนมาก่อน จำนวนผู้ติดเชื้อ ที่เก็บข้อมูลได้ อาจแสดงว่า ภูมิจากวัคซีนในอดีต อาจจะไม่พอการป้องกันการติดเชื้อแล้ว การกระตุ้นภูมิ จากวัคซีนที่เคยได้ในอดีต อาจจะมีความจำเป็น ถ้าฝีดาษวานร กลายเป็นโรคติดต่อ ที่มีความน่ากังวลในอนาคต

อ้างอิง
อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ >> (Research and analysis Investigation into monkeypox outbreak in England: technical briefing 2 :Updated 24 June 2022)


อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์)
https://www.facebook.com/thiraw

เฟซบุ๊ก : Anan Jongkaewwattana (ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา)
https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล