12 พ.ค.68 - CIBA DPU เปิดกลยุทธ์เตรียมความพร้อมบัณฑิต ป.ตรี ธุรกิจระหว่างประเทศ สู่ความเป็นเลิศในเวทีการค้าโลก
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) พัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี ธุรกิจระหว่างประเทศ ตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุคใหม่ เน้นพัฒนาทักษะวิเคราะห์และแก้ปัญหาธุรกิจข้ามพรมแดน พร้อมเสริมประสบการณ์จริงจากการฝึกงานในองค์กรชั้นนำและทัศนศึกษาในต่างประเทศ
•
อาจารย์สุรชัย สวนทับทิม รองคณบดีและหัวหน้าหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศและสาขาวิชาการจัดการ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจระหว่างประเทศกําลังมาแรง อย่างเช่นธุรกิจนําเข้า-ส่งออก ที่มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ธุรกิจ E-commerce เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยตลาด E-Commerce ของไทยมีมูลค่า 6.2 แสนล้านบาท ในปี 2565 และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องปีละ 6% ขึ้นไปอยู่ที่ 6.34-6.94 แสนล้านบาท ในระหว่างปี 2566-2567 รวมถึงการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยที่มีศักยภาพ และมีแนวโน้มมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นในทุกๆปี ทั้งนี้ ธุรกิจจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและต้องการขยายศักยภาพของธุรกิจให้เติบโตในระดับอินเตอร์ ต้องอาศัยผู้ที่มีแนวคิดการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ ดังนั้น นักบริหารจัดการธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศจึงเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงยังสามารถต่อยอดความรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจระหว่างประเทศได้
สำหรับหลักสูตรปริญญาตรี ธุรกิจระหว่างประเทศ CIBA DPU ได้รับการออกแบบให้ทันสมัย ตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคที่พรมแดนทางการค้าเปิดกว้าง เราเน้นการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการนำเข้า-ส่งออก การตลาดระหว่างประเทศ และการเข้าใจบริบทที่แตกต่างของแต่ละประเทศ ปัจจุบัน ธุรกิจระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งในตลาดโลกที่มีการเชื่อมโยงกัน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ข้ามประเทศเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน โดยการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลทำให้การทำธุรกิจระหว่างประเทศเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
อาจารย์สุรชัย กล่าวว่า เราสอนให้นักศึกษาเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานธุรกิจ ไปจนถึงการขยายกิจการระดับโลก โดยนักศึกษาสามารถวิเคราะห์การเข้าตลาดต่างประเทศได้ โดยการใช้เครื่องมือ PESTEL ซึ่งครอบคลุมปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย ช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสและอุปสรรคได้ชัดเจน ประกอบด้วย P (Political Factors) คือปัจจัยจากทางการเมือง E (Economic Factors) คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ S (Social Factors) คือปัจจัยทางสังคม T (Technological Factors) คือปัจจัยทางเทคโนโลยี E (Environmental Factors) คือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม และ L (Legal Factors) คือ ปัจจัยทางด้านกฎหมาย สำหรับจุดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ การได้เรียนรู้กฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศหรือ Incoterms ที่กำหนดโดยสภาหอการค้านานาชาติ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ทั่วโลก นักศึกษาจะได้เรียนรู้เงื่อนไขทั้ง 11 รูปแบบ ที่ใช้ในการซื้อขายระหว่างประเทศ นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังให้ความสำคัญกับทักษะจำเป็นอื่นๆ เช่น ทักษะการเจรจาต่อรองข้ามวัฒนธรรม การสื่อสารภาษาอังกฤษ และการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ
ด้านประสบการณ์จริง นักศึกษาจะได้ศึกษาดูงานบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ และฝึกงานในองค์กรธุรกิจจริง โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่น่าประทับใจ อาทิ นักศึกษาที่ไปฝึกงานกับบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของ "ตู้เต่าบิน" ได้รับโอกาสให้วิเคราะห์ตลาดต่างประเทศของ “ตู้เต่าบิน” จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้บริษัทตัดสินใจขยายธุรกิจไปยังสิงคโปร์ในที่สุด จากการที่นักศึกษาของเราได้นำความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนไปปฏิบัติงานได้จริงและมีผลสัมฤทธิ์ที่ดี ทำให้ ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่นฯ มีความสนใจที่จะรับนักศึกษาฝึกงานจากทางเรา และนำมาสู่การทำ MOU ส่งนักศึกษาไปฝึกงานเป็นประจำทุกปี โดยนักศึกษาของเราได้รับคำชื่นชมจากสถานประกอบการว่ามีทักษะด้านนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้ดี และมีนักศึกษาหลายคนได้รับการเสนองานต่อเนื่องหลังจบการฝึกงาน นอกจากนี้ยังมี บริษัท เบิร์ด เอ็กซ์เพรส ลอจิสติคส์ จำกัด ได้แสดงความประทับใจต่อศักยภาพของนักศึกษาที่ได้นำเสนอแนวทางการตลาดเชิงนวัตกรรมและกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่สร้างความพึงพอใจให้กับองค์กร จนนำไปสู่การว่าจ้างให้ปฏิบัติงาน นักศึกษาแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการดำเนินโครงการ มีทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และมีความเข้าใจในเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังมีความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่น สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการศึกษาเข้ากับบริบทการทำงานจริงในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ผู้จบการศึกษาจากหลักสูตรนี้มีโอกาสประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งด้านการนำเข้า-ส่งออก โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ การตลาดระหว่างประเทศ การจัดซื้อระหว่างประเทศ หรือแม้แต่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในปัจจุบันต้องการบุคลากรที่เข้าใจบริบทต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง เข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจกฎหมาย และสามารถสื่อสารและเจรจาข้ามพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นทักษะที่หาได้ยาก หลักสูตรของเราจึงมุ่งเน้นสร้างบัณฑิตที่มีศักยภาพตรงตามความต้องการนี้"